ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (17 พ.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 พ.ค.66) ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.64% ท่ามกลางแรงกดดันจากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายนที่ขยายตัว +0.4%m/m แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ +0.8% ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ อย่าง Home Depot -2.2% ก็ออกมาน่าผิดหวัง กดดันให้หุ้นกลุ่มค้าปลีกส่วนใหญ่ต่างปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง จนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.42% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว ตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤษภาคม ที่ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มที่พึ่งพายอดขายจากจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -0.6%) และกลุ่มยานยนต์ (Porsche -1.8%) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนล่าสุดก็ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้แข็งแกร่งตามคาด

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ECB ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ในหลายตลาดต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +7bps สู่ระดับ 3.54% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ได้ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัว sideway ใกล้โซนแนวต้านแถว 3.50%-3.60% ในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดและธนาคารกลางหลักอื่นๆ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่าถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อ หรือบางท่านก็ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 102.5 จุด อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปมาก หากตลาดกลับมากังวลปัญหาการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการคงนโยบายการเงินที่เข้มงวดและตึงตัวของเฟด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับฐานของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับฝั่งผู้นำสภาผู้แทนฯ ของพรรครีพับลิกัน หลังรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเจเนต เยลเลน ได้ย้ำว่ารัฐบาลและสภาคองเกรสควรหาทางออกปัญหาเพดานหนี้ให้ทันก่อนที่สหรัฐฯ อาจเผชิญความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB

ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินไทยในระยะสั้นนี้ได้ หลังล่าสุดบรรดาวุฒิสภาต่างออกมาให้ความเห็นที่ไม่ชัดเจนต่อการสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงทะลุแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้เป็นแนวต้านแรก ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

เราคงมองว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลผสม จะยังคงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้ในระยะสั้นนี้ ซึ่งสวนทางกับสถิติในอดีตที่เงินบาทมีโอกาสถึง 80% ในการแข็งค่าขึ้นราว +1.5% ในช่วง 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง (ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง มักจะได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เพียงพรรคเดียว) โดยความกังวลต่อปัญหาการเมือง ได้สะท้อนผ่านฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติอาจยังคงมุมมองเดิมที่คาดว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้ผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวอาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในการเพิ่มสถานะ Long THB ซึ่งข้อมูลผลสำรวจสถานะการถือครองเงินบาทของ Reuter ล่าสุด ก็สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยเพิ่มสถานะ Long THB มาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ทำให้เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรกแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่เราคงมองว่า เงินบาทจะยังมีโซนเส้นค่าเฉลี่ย EMA50 วัน แถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2566 เวลา : 10:20:54

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:51 am