ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 พ.ค.66) ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความหวังการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาสภาพคล่องของบรรดาธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางที่เริ่มคลี่คลายลงยังได้ช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมดีขึ้น ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +1.19%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.15% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ (ความกังวลได้ลดลงในช่วงตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปิดทำการ) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Diageo -1.5%, Kering -0.8%) จากความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.57% แต่โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้โซนแนวต้านแถว 3.60% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงรอจังหวะในการเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ (รอ Buy on Dip)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว sideways โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.9 จุด โดยในบางช่วงดัชนีเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 103 จุด ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อย จากแรงขายทำกำไรหลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,985 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับฐานของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและต่อเนื่อง (Initial and Continuing Jobless Claims) หลังจากข้อมูลในสัปดาห์ก่อนหน้านั้นออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็จะเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ในระยะสั้นนี้
ส่วนในฝั่งไทย เรายังคงเฝ้าติดตามการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินไทยในระยะสั้นนี้ได้ สะท้อนผ่านแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้ง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงทะลุแนวต้านสำคัญที่เรามองไว้และอ่อนค่าต่อไปทดสอบ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
เราคงมองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งจะสะท้อนผ่านแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ดังจะเห็นได้ว่า แรงขายหุ้นและบอนด์ได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ โมเมนตัมเงินดอลลาร์ที่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นจากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่คลี่คลายลงก็มีส่วนที่อาจกดดันเงินบาทได้ในระยะสั้น ขณะเดียวกัน เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะในจังหวะที่ราคาทองคำได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติอาจยังคงมุมมองเดิมที่คาดว่า ในระยะกลางและระยะยาว เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้ผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวอาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในการเพิ่มสถานะ Long THB นอกจากนี้ บรรดาผู้ส่งออกก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน หลังเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้บ้าง ยกเว้นในกรณีที่ตลาดกลัวความวุ่นวายทางการเมืองของไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมล่าสุดล้มเหลว ก็อาจเห็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกมากขึ้น กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.35 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น