ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (23 พ.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 พ.ค.66) ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.43 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง +0.02%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง +0.01% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาความคืบหน้าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มยานยนต์ (Porsche +1.7%) หลังผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง (Equinor -0.7%) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มลดความสนใจต่อหุ้นกลุ่มพลังงานลง สอดคล้องกับคาดการณ์ผลกำไรที่ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก แต่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.71% ซึ่งเรามองว่า แม้โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอมีอยู่บ้าง แต่การปรับตัวขึ้นอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงรอจังหวะในการเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ (รอ Buy on Dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตอบรับมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์เริ่มถูกจำกัดลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นขายทำกำไร ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.2 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,972 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่าการปรับฐานของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม โดยในฝั่งสหรัฐฯ บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 52.5 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งภาคการบริการของสหรัฐฯ ก็ยังคงได้รับอานิสงส์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัวอยู่

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจเริ่มเผชิญผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 46 จุด อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการบริการ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับ 55.5 จุด จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจยูโรโซน เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ (ดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจอยู่ที่ระดับ 55.5 จุด) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอังกฤษเช่นกัน

และในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 55.7 จุด ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจต่ำกว่าระดับ 50 จุด

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

เราคงมองว่า ในระยะสั้น โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งจากภายในประเทศอย่างความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย (ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายทั้งหุ้นและบอนด์รวมกันราว 1 หมื่นล้านบาทในวันก่อน) อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอก อย่างทิศทางเงินดอลลาร์ก็เริ่มเคลื่อนไหว sideways จนกว่าจะมีความชัดเจนของการเจรจาขยายเพดานหนี้ ซึ่งเรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลปัญหาการเจรจาขยายเพดานหนี้ ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ทว่า หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเรามองว่า หากรายงานดัชนี PMI ของประเทศอื่นๆ ออกมาดีกว่าคาดและมีทิศทางที่ดีกว่าของฝั่งสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ในทางกลับกัน รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และโดยรวมดีกว่าบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ก็อาจยังคงหนุนการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้

อนึ่ง เราประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทไม่น่าจะเกิน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นนี้ เพราะผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว หรือบางส่วนก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Long THB เช่นกัน ส่วนแนวรับค่าเงินบาทในช่วงนี้อาจอยู่ในโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจน

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2566 เวลา : 10:18:09

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:33 am