ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 พ.ค.66) ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชะลอการเปิดรับความเสี่ยง เพื่อรอลุ้นผลการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้โดยสภาคองเกรส อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ ตามธีมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI นำโดย Intel +3.4%, Nvidia +3.0% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.32% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดก่อนหน้า
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.12% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies -3.4%, Shell -3.0%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อแนวโน้มการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้โดยสภาคองเกรสสหรัฐฯ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมถูกกดดันโดยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูงให้สำเร็จ
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง (จากที่เผชิญแรงขายทำกำไรในช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า) หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ลดลงน้อยกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยังคงเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงทรงตัวแถวระดับ 104.1 จุด ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรสในช่วงวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงกว่า -10bps สู่ระดับ 3.70% ในขณะที่เงินดอลลาร์เริ่มทรงตัว ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1,976 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนที่ได้ซื้อทองคำในช่วงย่อตัวลง ทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) และไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ การพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรส ซึ่งทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ควรมีมติผ่านร่างข้อตกลงดังกล่าว ให้ทันภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 55 จุด (แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า) ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ทั้งนี้ หากรายงานดัชนี PMI ของจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองหุ้นจีนและหุ้นฮ่องกง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินหยวนของจีนมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้
ส่วนในฝั่งไทย ปัจจัยสำคัญที่ควรติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราคาดว่า แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอลง แต่ก็ยังสูงกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมาย จะส่งผลให้ กนง. ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ เราเตรียมปรับคาดการณ์จุดสูงสุดดอกเบี้ยนโยบาย (Terminal Rate) ใหม่ หาก กนง. ส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในขณะที่เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway up หรือแข็งค่าขึ้นไม่มาก
ทิศทางของเงินบาทนั้น เริ่มสอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มแผ่วลงชัดเจน อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่ยังคงขายสินทรัพย์ไทย มากกว่าที่เราคาด แต่ทว่า เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มกลับมาซื้อบอนด์ไทยเพิ่มมากขึ้นได้ หลังรับรู้ผลการประชุม กนง. ในวันนี้ เนื่องจากบอนด์ยีลด์ของไทยทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.25% ซึ่งสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.00% ไว้พอสมควรแล้ว อนึ่ง แรงขายหุ้นไทยอาจยังคงมีอยู่บ้าง จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งเราคาดว่า ต้องรอลุ้นผลการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้ โดยหากร่างข้อตกลงดังกล่าว สามารถผ่านสภาคองเกรสได้ราบรื่น ก็อาจหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง
เราคงมองว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้เล่นบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์อยู่ หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเร็วในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น