ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (2 มิ.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์


 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 มิ.ย.66) ที่ระดับ  34.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.78 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.99% ท่ามกลางความหวังว่าร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้อาจผ่านการพิจารณาโดยสภาคองเกรสได้ โดยล่าสุด สภาผู้แทนฯ ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และเหลือเพียงการพิจารณาโดยวุฒิสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้ตามเวลาในประเทศไทย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลการจ้างงานภาคเอกเชนโดย ADP ที่มาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ระบุว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน
 
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.78% ตามความหวังของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าสภาคองเกรสสหรัฐฯ อาจพิจารณผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหลายครั้ง ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น (Adyen +1.5%, ASML +0.9%)
 
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่พลิกกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมิถุนายน ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.60% ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเป็นแนวโน้มขาลงที่ชัดเจน หากเฟดไม่ได้เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาแย่กว่าคาด
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ (จากเดิมที่เคยมองว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 1-2 ครั้ง) ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.5 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway เพื่อรอรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบระดับโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงสู่ระดับ 1,993 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนพฤษภาคม อาจลดลงสู่ระดับ 1.8 แสนราย จากระดับกว่า 2.5 แสนราย ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการปรับแผนการจ้างงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่โดยรวมการจ้างงานในภาคการบริการอาจยังคงดีอยู่ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ (แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงก็ตาม) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่ออัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ซึ่งหากค่าจ้างยังคงขยายตัวราว +0.4%m/m หรือ ไม่น้อยกว่า 4.4%y/y ก็อาจยังเป็นปัจจัยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า และหนุนให้เฟดอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อ และอีกไฮไลท์สำคัญ คือ ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ จะมีมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้หรือไม่
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์
 
แม้ว่าเงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง แต่จะเห็นได้ว่าการอ่อนค่านั้นไม่ได้รุนแรงมากตามที่เราได้ประเมินไว้ นอกจากนี้ โมเมนตัมเงินบาทเริ่มพลิกกลับมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้น หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงชัดเจน ส่วนราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์กลับมาเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโซนดังกล่าวอาจมีผู้เล่นในตลาดรอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ทองคำพอสมควร ทำให้เราคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาท แม้จะพอมีอยู่บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย แต่ก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก
 
ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวัง ความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ (เวลา 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งมีโอกาสที่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมจะออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาก่อนหน้านั้น ก็ออกมาสูงกว่าคาดไปมาก อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้ข้อมูลการจ้างงานจะออกมาดีกว่าคาด แต่ก็อาจไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้มากนัก ยกเว้นว่า ยอดการจ้างงานจะออกมาสูงกว่าคาดมาก และอัตราการเติบโตของค่าจ้างก็เร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด (ซึ่งเรามองว่าโอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีไม่มาก)
 
แม้ว่าโมเมนตัมเงินบาทเริ่มกลับมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้น แต่เรายังคงเห็นความต้องการซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะฝั่งนำเข้า ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงไม่รีบกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย ทำให้เรามองว่า โซนแนวรับของเงินบาทอาจยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์
 
ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มิ.ย. 2566 เวลา : 11:21:32

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 3:12 pm