ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (7 มิ.ย.66)ที่ระดับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.79 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.24% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Amazon +1.1%, Alphabet +2.0% จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ หุ้นในธีมการลงทุน AI อย่าง กลุ่ม Semiconductor ก็ยังปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย AMD +5.3%, Intel +3.7%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.38% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare นำโดย Novo Nordisk +4.1% หลัง Novo Nordisk ได้เตรียมเข้าซื้อหุ้นบริษัท Biocorp (ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ของฝรั่งเศส) อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปนั้นถูกจำกัดโดยมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ที่ต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเงินยูโรอ่อนค่าลง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรออกมา กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมได้จำกัดการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยล่าสุดราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดก็อาจรอจังหวะดังกล่าวในการทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ฝั่งจีน โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด หลังข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดต่างชี้ว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้แย่กว่าคาด โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งตลาดคาดว่า การชะลอตัวลงของภาคอุตสาหกรรมอาจสะท้อนผ่าน ยอดการนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -8%y/y ส่วนยอดการส่งออกก็อาจหดตัว -2%y/y ตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ล้วนชะลอตัวลง นอกจากนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ทางการจีนและธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนชะลอลงมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์
เรายังคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาท แม้จะมีอยู่บ้าง แต่ก็แผ่วลงไปมากพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ไกล ซึ่งเรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์ที่เริ่มแกว่งตัว sideway รอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงโฟลว์ขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออก ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังไม่พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากยังขาดปัจจัยหนุนสำคัญ อย่าง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุด เรายังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทว่า แรงขายโดยนักลงทุนต่างชาตินั้นได้ลดลงไปมากแล้ว ทำให้แนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 34.60-34.70 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่ง ควรรอติดตามรายงานข้อมูลยอดส่งออกและนำเข้าของจีนในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังค่าเงินบาท ผ่านการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน โดยในช่วงที่ผ่านมานี้ เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินหยวนจีนเกือบ 70% ซึ่งหากรายงานข้อมูลการค้าของจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง และส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.85 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น