ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (8 มิ.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 มิ.ย.66)ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวผสมผสาน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวขึ้น +0.27% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +2.6%, ExxonMobil +2.2%) ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้น หลังยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าคาด อย่างไรก็ดี แรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI ที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา (Amazon -4.3%, Alphabet -3.8%, Nvidia -3.1%) ได้กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -1.29% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.38% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนเป็น 34% (จากเดิม 22%) หลังธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางแคนาดา (BOC) เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่หยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้า

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.19% กดดันโดยความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Shell +0.9%, BP +0.5%) หลังราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 76.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หลัง RBA และ BOC เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 3.78% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) ทำให้การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยยังคงมีโซนแนวต้านแถว 3.80%-3.90% สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยในช่วงแรกเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ตามแรงขายทำกำไรและการปรับตัวขึ้นของสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเฉพาะเงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) หลัง RBA ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดกังวลว่าเฟดก็อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ ขณะเดียวกัน แรงขายหุ้นเทคฯ ในฝั่งสหรัฐฯ ก็หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนอยากถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104 จุด อีกครั้ง ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนในการกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial and Continuing Jobless Claims)

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดจะรอลุ้นว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.50% ได้หรือไม่ หลังจากอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงต่อเนื่อง อีกทั้งสกุลเงินรูปี (INR) ก็มีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

แม้ว่าเงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านบ้าง แต่เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านไปได้ไกลนัก เนื่องจาก โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้แผ่วลง อีกทั้งบรรดาผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันเงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา อย่าง แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติก็ลดลงชัดเจนและเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ หลายครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ผ่านไปได้สำเร็จ แต่เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าว ก็อาจอ่อนค่าต่อไปยังโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ โอกาสเกิดภาพดังกล่าว ยังมีไม่มากนัก และจำเป็นต้องอาศัยการไหลออกของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติควบคู่ไปกับทั้ง การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ และการย่อตัวลงชัดเจนของราคาทองคำ

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาท/ดอลลาร์

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มิ.ย. 2566 เวลา : 10:07:49

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 6:50 pm