ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (9 มิ.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 มิ.ย.66) ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 73% (จาก CME FedWatch Tool) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอลงมากขึ้น สะท้อนผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI รีบาวด์ขึ้นแรง นำโดย Nvidia +2.8%, Amazon +2.5% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.02% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.62%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงย่อตัวลง -0.02% กดดันโดยความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare (Novartis +1.0%, Novo Nordisk +0.6%) อยู่บ้าง ตามความต้องการถือหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบน้อยจากการขึ้นดอกเบี้ยหรือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว

ทางด้านตลาดบอนด์ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานออกมาแย่กว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.72% สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่ประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยยังคงมีโซนแนวต้านแถว 3.80%-3.90% และผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงชัดเจน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.3 จุด หลังผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC สัปดาห์หน้า จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่การปรับตัวลงชัดเจนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นจากโซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,980-1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนในช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI โดยหากทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และ PPI ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หรือ ชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณสะท้อนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นไม่ได้ดีอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) และรัฐบาลจีน อาจจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น การลด RRR พร้อมกับกระตุ้นการบริโภคในประเทศ หรือ กระตุ้นภาคอสังหาฯ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากที่ในระหว่างวัน เงินบาทไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ โดยปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมาจาก การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำในจังหวะรีบาวด์

เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นแผ่วลงชัดเจน สะท้อนผ่านการที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านไปได้ไกล นอกจากนี้ เรามองว่า ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน แรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก รวมถึงการขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองว่าเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจจะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นเทรนด์แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดและคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ในสัปดาห์หน้า ทำให้โดยรวมเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในกรอบ sideway 34.40-34.95 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน โดยมีโซนแนวรับสำคัญแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้าบางส่วนอาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก หากประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดจบลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของหุ้นไทย (ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย สองวันติดต่อกัน ราว 3.4 พันล้านบาท)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 09 มิ.ย. 2566 เวลา : 10:09:18

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:15 am