ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 มิ.ย.66) ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ต่างมองว่า เฟดมีโอกาสราว 79% (จาก CME FedWatch Tool) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI ต่างปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก นำโดย Amazon +2.5%, Nvidia +1.8% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.53% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.93%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.16% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และธีม AI เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (Infineon Tech. +2.7%, ASML +0.7%) รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +3.0%, LVMH +1.8%) ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากความหวังว่าทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันโดยความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง
ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่จะรับรู้ในช่วงค่ำของวันนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideway ในกรอบ 3.70%-3.80% ทั้งนี้ เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip) บอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการขึ้นดอกเบี้ยเฟดนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นมาบ้าง หลังจากอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับขึ้นสู่ระดับ 103.5 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดได้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงมาทดสอบโซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,974 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจผันผวนไปตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงสู่ระดับ 4.1% (+0.2%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ก็ชะลอลงสู่ระดับ 5.2% (+0.4%) ตามคาด ก็อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดยังมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่หากอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือ เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป หากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey) เดือนมิถุนายน โดยตลาดมองว่า ความกังวลต่อแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีน รวมถึงผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกดดันให้บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีเพิ่มเติม โดยดัชนี ZEW อาจลดลงสู่ระดับ -13.1 จุด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นมาบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ในระยะสั้นของเงินดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นได้บ้างเช่นกัน
เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบเดิม เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจรอคอยผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก อย่างไรก็ดี ในช่วง 16.00 น. เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานดัชนี ZEW ของเยอรมนีออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) เสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ (ในช่วง 19.30 น.) เพราะหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด จะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ หรือ เฟดอาจจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก แม้ว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าขึ้น หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง เหมือนในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยก็เริ่มลดลงและมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติอาจกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ หลังรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI และอาจอยู่ในกรอบ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI
ข่าวเด่น