ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 มิ.ย.66) ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามที่ตลาดคาดหวัง ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดคาดว่า เฟดมีโอกาสราว 94% (จาก CME FedWatch Tool) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้ หุ้นสไตล์ Growth หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดย Nvidia +3.9%, Tesla +3.6% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.69%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อ +0.55% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Anglo American +2.8%, Kering +1.0%) ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และธีม AI เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML +1.4%) อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังเป็นปัจจัยกดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะต่างมองว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.82% อย่างไรก็ดี เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip) บอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการขึ้นดอกเบี้ยเฟดนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงตามคาด ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.3 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงมาทดสอบโซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลา 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสบดี ตามเวลาในประเทศไทย โดยเราคาดว่า การชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบต่อภาคการบริการ (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจ) ส่วนตลาดแรงงานก็ชะลอลงมากขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และภาวะสินเชื่อ (Credit Condition) ที่ตึงตัวขึ้นอย่างชัดเจน จะส่งผลให้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% นอกจากนี้ เรายังคาดว่า เฟดอาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเพื่อให้สะท้อนแนวโน้มการชะลอลงของข้อมูลเศรษฐกิจที่ผ่านมามากขึ้น และที่สำคัญ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่ อาจยังคงสะท้อนว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเราประเมินว่า ควรจะเห็นจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่มีมุมมองดังกล่าวมากขึ้น และจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ควรจะลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี หากผลการประชุมเป็นไปตามเราคาด แต่ Dot Plot กลับสะท้อนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ก็อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น สวนทางกับที่เราคาดการณ์ได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำเป็นปัจจัยหลัก ขณะที่จังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งเรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อเนื่องมายังการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ได้บ้าง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเผชิญโซนแนวต้านแรกแถว 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจใช้จังหวะการอ่อนค่าดังกล่าวในการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ได้บ้างก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด
ทั้งนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าว เรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปทดสอบโซนแนวต้าน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นโซนที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากผลการประชุมเฟดไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาด เช่น เฟดอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด แต่ในส่วน Dot Plot ใหม่ กลับมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ 1-2 ครั้งในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
ในทางกลับกัน หากผลการประชุมเฟด เป็นไปตามที่เราคาด และ Dot Plot ย้ำจุดจบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยมีโอกาสเห็นเงินบาทแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ เพราะหากตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่อง จนหลุดโซนแนวรับปัจจุบัน ก็อาจเห็นผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
อนึ่ง เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด และอาจอยู่ในกรอบ 34.50-34.90 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด
ข่าวเด่น