ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 มิ.ย.66) ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่เฟดมีมติ “คงอัตราดอกเบี้ย” ที่ระดับ 5.00-5.25% แต่ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกครั้ง 2 สู่ระดับ 5.50-5.75% ผ่าน Dot Plot ใหม่ ได้ส่งผลให้ บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เลือกที่จะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเฉพาะหุ้นธีม AI อาทิ หุ้นกลุ่ม Semiconductor (Intel +4.9%, Nvidia +4.8%) ในขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ ต่างปรับตัวลดลงจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.39% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.08%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ +0.36% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Anglo American +4.0%, Kering +1.6%) ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ แต่ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมองว่า เฟดอาจต้องทยอยลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นทดสอบโซน 3.80%-3.85% ในการทยอยเข้าซื้อ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.79% หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ระยะยาวดังกล่าว ก็สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่คาดว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip) บอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการขึ้นดอกเบี้ยเฟดนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หลังเฟดส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี มุมมองดังกล่าวของเฟดไม่ได้ต่างจากที่ผู้เล่นในตลาดคาดการณ์มากนัก ทำให้การรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรจากผู้เล่นในตลาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีการย่อตัวลงบ้าง หลังรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงก่อนการประชุมเฟด แต่ท่าทีของเฟดที่ยังคงต้องการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ได้กลับมากดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) พลิกกลับมาย่อตัวลงมาทดสอบโซน 1,950-1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ เรามองว่า หลังผู้เล่นในตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟดและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดไปแล้วนั้น บรรดาผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาวะตลาดแรงงานได้
ส่วนในฝั่งยุโรป ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ถึงภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนอาจชะลอลง แต่เราประเมินว่า ECB จะยังคงให้ความสำคัญต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 3.50% พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังมีความจำเป็น (ผู้เล่นในตลาดคาดว่า ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับ 3.75%) โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตาว่า ECB จะส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะมีอีกกี่ครั้ง
และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนพฤษภาคม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึง ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจยิ่งเพิ่มโอกาสที่ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หรือ ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า มีโอกาสที่ PBOC อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 2.65% ซึ่งแม้อาจไม่ได้ส่งผลบวกโดยตรงมากนัก แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็อาจหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจดีขึ้นจากความหวังว่าทางการจีนพร้อมเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นและโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องไปไกลมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รับรู้แนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในรอบถัดๆ ไป (Skip Hike) ไปพอสมควร นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมาโฟกัสที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า หาก ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง กดดันให้เงินดอลลาร์อาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นชัดเจนได้
อนึ่ง แม้ว่าเงินดอลลาร์จะไม่ได้แข็งค่าขึ้นชัดเจน แต่เงินบาทก็ยังมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง ผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงแรงกดดันจากเงินหยวนจีนที่มีโอกาสอ่อนค่าได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนล่าสุดออกมาแย่กว่าคาดและทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) เดินหน้าลดดอกเบี้ยลง
ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทยังมีโซนแนวต้านในช่วง 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ทำให้เรายังคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างจำกัด และเงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นหรือแกว่งตัว sideway down โดยมีโซนแนวรับแรกแถว 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม ECB
และอาจอยู่ในกรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB
ข่าวเด่น