ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (29 มิ.ย.66) พุ่ง 269.76 จุด ขานรับ 23 แบงก์ใหญ่สหรัฐผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต Stress Test


 

ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.66) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,122.42 จุด เพิ่มขึ้น 269.76 จุด หรือ +0.80%,ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,396.44 จุด เพิ่มขึ้น 19.58 จุด หรือ +0.45% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,591.33 จุด ลดลง 0.42 จุด หรือ -0.003%

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งแรงโดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร (S&P 500 Banks Index) พุ่งขึ้น 2.6% ขณะที่ดัชนี KBW หุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาคดีดตัวขึ้น 1.8% หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีของภาคธนาคารโดยมีสถานะแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ขณะเดียวกันก็ยังสามารถปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้ แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรง 
รายงานดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของสหรัฐ และช่วยบดบังปัจจัยลบจากความวิตกกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 90% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐยังเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 239,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย

โมนา มาฮาจาน นักวิเคราะห์จากบริษัท Edward Jones กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นและสร้างแรงกดดันต่อหุ้นเติบโต (Growth Stocks) โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนหุ้นคุณค่า (Value Stocks) และหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stocks) ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม, กลุ่มวัสดุ และกลุ่มขนส่ง

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 มิ.ย. 2566 เวลา : 10:40:54

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 4:14 pm