ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (3 ก.ค.66) ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.45 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และการเติบโตของค่าจ้าง พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองไทย อย่างใกล้ชิด
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
? ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญที่อาจส่งผลต่อมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นราว 2 แสนตำแหน่ง ในเดือนมิถุนายน ชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3.4 แสนตำแหน่ง ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการชะลอลงของการจ้างงานจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อยู่ที่ระดับ +0.3%m/m หรือ +4.2%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ หากยอดการจ้างงานออกมาสูงกว่าคาดมาก เช่น +3 แสนตำแหน่ง หรือ อัตราการเติบโตของค่าจ้างมากกว่า +4.3%y/y ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนกันยายน โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาส 87% เฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และโอกาส 21% ในการขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนกันยายน เราประเมินว่า ในกรณีดังกล่าว ที่ข้อมูลการจ้างงานนั้นออกมาดีกว่าคาดมาก เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร หากตลาดให้โอกาสเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนกันยายนไม่น้อยกว่า 40% ทั้งนี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมิถุนายน พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุม FOMC ล่าสุด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคต
? ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม ของยูโรโซน อาจขยายตัว +0.2%m/m ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทว่าปัญหาเงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันการใช้จ่ายของครัวเรือน แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปอาจมีไม่มากนัก แต่ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลาง
? ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้แรงหนุนจากแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการที่ยังคงสดใส สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ซึ่งสำรวจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (Tankan Survey) ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ทั้งในส่วนธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง สำหรับนโยบายการเงินในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อาจทำให้ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตัดสินใจ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 3.00% และ 4.10% ตามลำดับ
? ฝั่งไทย – เราคาดว่า ภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องอาจส่งผลให้ ภาคการผลิตของไทยขยายตัวในอัตราชะลอลงมากขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 56 จุด จากระดับ 58.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการส่งออก ต้นทุนภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนมิถุนายน ลดลงสู่ระดับ 49.3 จุด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริการที่ดีขึ้นต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ในส่วนรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน เรามองว่า ผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงหนักสู่ระดับ 0.04% (+0.4%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวที่ระดับ 1.50% นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ควรติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการโหวตเลือกประธานสภาฯ ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมีความล่าช้าหรือไม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้ว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าจะแผ่วลง แต่ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับแรกจะอยู่ในโซน 35.15-35.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวก็อาจแข็งค่าต่อทดสอบแนวรับสำคัญแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ และการเติบโตของค่าจ้างชะลอลงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อได้ แต่หากออกมาตามคาดหรือดีกว่าคาดไม่มาก ก็อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย เพราะตลาดก็ยังไม่มั่นใจว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ถึง 2 ครั้ง
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.75 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.40 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น