ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (12 ก.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์


 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (12 ก.ค.66) ที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหว sideway ในกรอบ 34.75-34.85 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ (19.30 น.) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาสถานการณ์การเมืองไทยที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจใกล้จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังจบการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ (ตลาดยังให้โอกาส 92% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่า ผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อาจออกมาดี หลังล่าสุด นักวิเคราะห์ได้ปรับมุมมองต่อหุ้น JPM เป็น “BUY” ส่งผลให้ บรรดาหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ต่างปรับตัวขึ้น (JPM +1.6%, BofA +1.3%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.67% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นราว +0.72% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +2.2%, Dior +2.2%) และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +1.6%) ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้น Novo Nordisk -2.6% จากประเด็นการสืบสวน Side effects ของยาเบาหวานและยาลดน้ำหนักของบริษัท 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00% (กรอบ 3.96%-4.00%) และแม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่เรามองว่า Risk-Reward ณ ระดับยีลด์ปัจจุบัน ก็ถือว่าน่าสนใจมาก ทำให้เราคงแนะนำ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อได้ใกล้และยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 101.6 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101.5-102 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยปรับตัวอ่อนค่าลงบ้าง แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ใกล้โซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เรามองว่าผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 3.1% จาก 4% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญ อาจชะลอลงสู่ระดับ 5% ซึ่งอาจเป็นระดับที่เฟดยังคงกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมากกว่าคาด เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นชะลอลงกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักอื่นๆ  เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักในระยะถัดไป

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้แถว 34.90 บาทต่อดอลลาร์ จนทดสอบโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราคาด แต่โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเราเห็นสัญญาณการทยอยขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ โซน 34.55-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ก็เป็นช่วงที่ผู้เล่นในตลาด อย่าง ผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นในตลาดที่กลับมา Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ในช่วงเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจทยอยขายทำกำไรได้บ้าง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือ อาจปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด ก็อาจกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดก็มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ อย่างน้อย อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจอยู่ในระดับสูงได้นานขึ้น (Higher For Longer) ซึ่งมุมมองดังกล่าว อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งเรามองว่า เงินบาทก็อาจอ่อนค่ามาติดโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างได้มองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด และในกรณีดังกล่าว เราคาดว่า หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาทองคำก็อาจรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือสูงกว่านั้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ (ซึ่งก็เป็นแนวรับที่ผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์เช่นกัน) 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ 

และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.45-34.90 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ค. 2566 เวลา : 10:25:54

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:03 am