ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (14 ก.ค.66) ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง"


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.58 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.57 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway ในช่วง 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าในช่วงผลการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งแม้ว่าผลการโหวตจะเป็นไปตามที่เราคาด และอาจนำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในระยะสั้น แต่เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงอย่างที่เรากังวล เนื่องจากเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรามองว่า อาจมีโฟลว์จากฝั่งธุรกรรม JPYTHB (ขายเงินเยนญี่ปุ่น ซื้อเงินบาท) ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท หลังเงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องพอสมควรในช่วงนี้ (จากเกือบหลุด 24 บาท/100 เยน สู่ระดับกว่า 24.80 บาท/100 เยน)

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจใกล้จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวขึ้นได้ดี (Alphabet +4.7%, Nvidia +4.7%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.58% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.85% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนตลาดในระยะสั้นได้ หากงบออกมาแย่กว่าคาด หรือ ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลปัญหาระบบธนาคารสหรัฐฯ อีกครั้ง
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อ +0.61% ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ที่ได้รับแรงหนุนจากความหวังต่อแนวโน้มเฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้นต่อ (SAP +1.9, ASML +1.4%) 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติมและช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.77% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ +25bps ในการประชุมเดือนกรกฎาคมเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าเฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลุดจากระดับ 100 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 99.8-100.3 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง แต่ทว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ชะลอการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้โซน 1,960-1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจปรับตัวขึ้นบ้างในเดือนมิถุนายน ตามภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาว เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ กลุ่มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ อาทิ JP Morgan, Citi, Wells Fargo และ BlackRock ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินได้ หากงบออกมาแย่กว่าคาด หรือตลาดกลับมากังวลปัญหาการขาดทุนในส่วนการลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องของธนาคารสหรัฐฯ โดยเฉพาะธนาคารภูมิภาคได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับค่าเงินเยนญี่ปุ่น แต่ทว่า การแข็งค่าอาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังผลการโหวตเลือกนายกฯ ออกมาตามที่เราคาด และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในระยะสั้นได้ ซึ่งเราคาดว่า หากเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ก็ควรจะเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น 

ดังนั้น เราจึงประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ผู้เล่นต่างชาติอาจเลือกที่จะลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในไทยไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน ซึ่งอาจเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยต่อได้บ้างในช่วงนี้ ทำให้เงินบาทอาจหยุดการแข็งค่าไว้แถวโซนแนวรับที่เราเคยประเมิน คือ ช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทอาจยังไม่กลับมาอ่อนค่าทะลุโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายนัก หากไม่เห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง พร้อมกับการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์

อนึ่ง ควรระมัดระวังการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่อาจเกิดขึ้นในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งเรามองว่า ยังมีความเป็นไปได้ในระยะสั้น หากตลาดกังวลรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน หรือกังวลต่อปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในฝั่งสหรัฐฯ 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ค. 2566 เวลา : 10:17:03

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:05 am