ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (17 ก.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์


 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (17 ก.ค.66)ที่ระดับ  34.63 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.65 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) ออกมาดีกว่าคาด 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังตลาดมองเฟดใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้น รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองไทย (โหวตเลือกนายกฯ รอบ 2) อย่างใกล้ชิด

 
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
 
? ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน โดยนักวิเคราะห์มองว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัว +0.5% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดขายรถยนต์ ตามการปรับลดราคารถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมผลของยอดขายรถยนต์และน้ำมัน (Retail Sales Ex. Auto & Gas) อาจโตเพียง +0.1%m/m ชี้ว่าผู้บริโภคฝั่งสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับลดการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ BofA, Morgan Stanley, ASML, Netflix, Tesla และ TSMC เป็นต้น

? ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษอย่างใกลชิด เพื่อประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +50bps เหมือนกับในรอบการประชุมก่อนหน้า โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนมิถุนายน ชะลอลงไม่มากนัก สู่ระดับ 8.2% และ 7.1% ตามลำดับ ก็อาจเปิดโอกาสที่ BOE จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +50bps ในการประชุมเดือนสิงหาคมได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั้งสอง

? ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังคงไม่สดใสนัก สะท้อนผ่านอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่จะชะลอลงสู่ระดับ +0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า จากที่ขยายตัวกว่า +2.2% ในไตรมาสแรก ซึ่งจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนมิถุนายน อาทิ ยอดค้าปลีกที่อาจโตเพียง +3.3%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็ขยายตัวราว +2.5%y/y ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใส อาจไม่ได้กดดันตลาดการเงินจีนมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังการประชุม Politburo ในเดือนนี้ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจอยู่ที่ระดับ 3.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน (Core-Core CPI) อาจชะลอลงสู่ระดับ 4.2% ซึ่งอาจยังไม่สูงพอ หรือ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นชัดเจนมากพอ ที่จะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวหรือเข้มงวดมากขึ้นในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้    

? ฝั่งไทย – เรามองว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ หลังทางพรรคก้าวไกลและพันธมิตร เตรียมเสนอคุณพิธา เป็นแคนดิเดตในรอบที่ 2 ซึ่งเรามองว่า การโหวตรอบที่ 2 ก็อาจยังขาดเสียงสนับสนุนจากฝั่งวุฒิสภาพอสมควร (ไม่น้อยกว่า 50 เสียง) ซึ่งต้องติดตามว่า สำหรับการโหวตในรอบที่ 3 ทางพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝั่งเสนอชื่อแคนดิเดตและเสนอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ถึงการโหวตเลือกนายกฯ อาจยืดเยื้อ แต่สุดท้ายก็อาจเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยที่จะได้รับการโหวตเลือกเป็นนายกฯ และพรรคเพื่อไทยก็อาจเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งกรณีดังกล่าวก็อาจส่งผลดีต่อตลาดการเงินได้มากกว่าในกรณีที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากล่าสุดที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมาเกือบ +1.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก และส่งผลให้ตลาดการเงินยังมีความผันผวนอยู่พอสมควร 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การโหวตเลือกนายกฯ จะยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนได้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจเปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ไทยต่อได้ หากผลการโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 ชี้ว่า ทางพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการโหวตรอบที่ 3 อนึ่ง เรามองว่า แนวต้านของเงินบาทได้ลดลงมาอยู่ในโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญจะอยู่แถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ในกรณีที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาน่าผิดหวัง ทั้งนี้ ควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินปอนด์อังกฤษและเงินดอลลาร์ได้ โดยเงินปอนด์อาจอ่อนค่าลงได้ หากอัตราเงินเฟ้อชะลอมากกว่าคาด ทำให้ตลาดปรับลดโอกาสธนาคารกลางอังกฤษเร่งขึ้นดอกเบี้ย +50bps

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและภาวะตลาดการเงินในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.40-35.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2566 เวลา : 10:00:37

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:14 pm