ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (9 ส.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ส.ค.66) ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในลักษณะ sideway up (แกว่งตัวในช่วง 34.98-35.07 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) 
 
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก-กลาง หลัง Moody’s ได้ปรับลดเครดิตเรทติ้งของธนาคารขนาดเล็ก-กลาง หลายแห่ง และเตรียมทบทวนเครดิตเรทติ้งของธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.42%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงราว -0.23% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารอิตาลี ยังเผชิญแรงขายหนัก หลังทางการอิตาลีอนุมัติการเก็บภาษีลาภลอย 40% จากกำไรพิเศษของธนาคาร ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการพุ่งขึ้นแรงของหุ้น Novo Nordisk +17.3% หลังรายงานผลการศึกษายารักษาโรคอ้วนที่มีประโยชน์ต่ออาการที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่มีทั้งฝั่งสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และฝั่งที่มองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.00% (กรอบ 3.98%-4.04%) อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้าง หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณว่า เฟดอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด ทั้งนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังคงแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวนนั้น ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลง ใกล้ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะเริ่มทรงตัวที่ระดับดังกลาวได้ หลังเงินดอลลาร์เริ่มย่อตัวลง นอกจากนี้ เรายังเห็นแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้อีกครั้ง ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังซบเซาอยู่ สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -0.4% อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวอาจยิ่งเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ร่วมกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้น

ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ที่หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ที่ยังคงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ไปไกลมาก ก็อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ในโซนดังกล่าว ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาท อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเราประเมินแนวต้านในโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ และหากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ (ซึ่งเราคาดว่าต้องเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลก่อน) เรายังคงประเมินโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญ

แม้ว่าในวันนี้อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญไม่มากนัก และผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ ทว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวัง ความผันผวนในฝั่งตลาดค่าเงินเอเชียที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของจีน (ในช่วงราว 8.30 น.) โดยผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับในเชิงบวก ต่อรายงานอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงได้ (Bad News = Good News for the markets) จากความหวังว่า ทางการจีนอาจเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาใกล้ชิดว่า ตลาดการเงินจะตอบรับในเชิงบวกได้จริงตามที่เราคาดหรือไม่ โดยหากผู้เล่นในตลาดตอบรับในเชิงบวกก็อาจหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้และอาจช่วยชะลอการอ่อนค่า หรือ หนุนให้สกุลเงินเอเชียรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 09 ส.ค. 2566 เวลา : 10:52:56

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:17 am