ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (8 ส.ค.66) ร่วง 158.64 จุด นักลงทุนผวา"มูดี้ส์"ลดอันดับความน่าเชื่อถือแบงก์สหรัฐ


ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดเมื่อคืนนี้ (8 ส.ค.66) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,314.49 จุด ลดลง 158.64 จุด หรือ -0.45%,ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,499.38 จุด ลดลง 19.06 จุด หรือ -0.42% และ
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,884.32 จุด ลดลง 110.07 จุด หรือ -0.79% หลัง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ 10 แห่ง ลง 1 ขั้น และประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งในจำนวน 6 แห่งมีแนวโน้มถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ อาทิ แบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน, ยูเอส แบงคอร์ป, สเตท สตรีท และทรูอิสต์ ไฟแนนเชียล ส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของธนาคารต่างๆ และแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ

โดยมูดี้ส์เตือนว่า ภาคธนาคารของสหรัฐเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น การลดลงของเงินฝาก และอัตราการทำกำไรที่อ่อนแอ หลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB)

ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร (S&P 500 Banks index) ดิ่งลง 2.5% และดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาค (KBW regional bank index) ร่วงลง 1.4% นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน

เจสัน ไพรด์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Glenmede กล่าวว่า การที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก และเตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารขนาดใหญ่ในวันข้างหน้า ถือเป็นการประกาศต่อสาธารณชนว่ามูดี้ส์มีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐ และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจสหรัฐเป็นวงกว้าง

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าภาคสินค้าและบริการของสหรัฐลดลง 4.1% สู่ระดับ 6.55 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.50 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังขาดดุลการค้า 6.83 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. โดยการนำเข้าลดลง 1.0% สู่ระดับ 3.130 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564 และการส่งออกลดลง 0.1% สู่ระดับ 2.475 แสนล้านดอลลาร์

นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.8% ในเดือนมิ.ย.

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ส.ค. 2566 เวลา : 11:42:17

19-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 19, 2024, 8:27 pm