นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 ส.ค.66) ที่ระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนหนัก (แกว่งตัวในช่วง 34.87-35.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทก็อยู่ได้ไม่นาน หลังเงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลงของราคาทองคำ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการ ที่ไม่รวมที่อยู่อาศัย (Core Services ex. Housing) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดจับตาใกล้ชิด ยังไม่ได้ชะลอลงมากนัก กอปรกับ เจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนก็ยังคงมองว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอาจมีความจำเป็น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยในช่วงแรกตลาดตอบรับการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเชิงบวกพอสมควร ตามมุมมองที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจใกล้จบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟดอีกครั้งและเลือกที่จะทยอยขายทำกำไร หลังพิจารณารายละเอียดของรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และพบว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการ ที่ไม่รวมที่อยู่อาศัย (Core Services ex. Housing) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดจับตาใกล้ชิด ยังไม่ได้ชะลอลงมาก ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.03%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.79% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +3.4%, Hermes +3.2%) หลังทางการจีนผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางไปต่างประเทศของกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งจะช่วยหนุนการเดินทางท่องเที่ยวและการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมได้
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ผันผวนไปมาในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง 3.97%-4.13% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.11% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับสูงกว่า 4.00% ถือว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ ในการทยอยเข้าซื้อ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น และเฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ Core CPI ในส่วนของ Core Services อาจไม่ได้ชะลอลงตามคาด และแม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับที่เราคาด ผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอย่างจำกัด ซึ่งเราคงมองว่า risk-reward ของการทยอยซื้อในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สูงกว่า 4.00% ยังมีความน่าสนใจและคุ้มค่าความเสี่ยง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าเร็ว หลังรายงานโดยรวมสะท้อนการชะลอลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดพบว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการ ที่ไม่รวมที่พักอาศัย Core Services ex. Housing ยังไม่ได้ชะลอลงไปมาก อีกทั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนก็ยังคงส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.6 จุด (กรอบ 101.9-102.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เช่นกัน โดยราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้น ใกล้ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยตลาดอาจให้ความสนใจ ต่อ รายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว ว่าจะมีทิศทางอย่างไร
นอกจากนี้ในฝั่งอังกฤษ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจชะลอลงมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยเศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากที่ขยายตัวราว +0.1%q/q ในไตรมาสแรก กดดันโดยผลกระทบต่อเนื่องจากการประท้วงหยุดงานในช่วงต้นปี และ ผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่า หาก BOE เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอลงมากขึ้นและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปีนี้หรือในช่วงต้นปีหน้า
ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การเมืองต่อ เพื่อประเมินแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลผสมว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร โดยตลาดการเงินไทยอาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น จากความไม่มั่นใจของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด หากตลาดไม่ได้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จนหนุนให้เงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นไปมาก หรือ ราคาทองคำปรับตัวลดลงหนักอีก เนื่องจากเราเริ่มเห็นการทยอยขายเงินดอลลาร์ ของบรรดาผู้ส่งออกในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทในระยะกลาง-ระยะยาว ก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองไทย แม้จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็เริ่มมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้เร่งเทขายสินทรัพย์ไทยมากขึ้น และอาจยังไม่ปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งล่าสุด นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อหุ้นไทยสุทธิเช่นกัน
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.25 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น