ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ส.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ส.ค.66) ที่ระดับ  35.50 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.30-35.50 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ยังคงสะท้อนว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
 
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเทขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -3.2%, Meta -2.5%) ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุด สะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและยังคงต้องการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ  ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -1.15% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.76%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% ตามการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ หุ้นธนาคาร HSBC -1.8%, Rio Tinto -0.6%, LVMH -0.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +1.7%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (สะท้อนผ่านการปรับเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเป็นมากกว่า 40% จากข้อมูล CME FedWatch Tool) หลังรับรู้รายงานการประชุมเฟดล่าสุด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.27% (เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 4.18%-4.28%) ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรา และเรากลับมองว่า เป็นเรื่องที่ดี สำหรับนักลงทุนที่รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัว 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานการประชุมเฟด ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดมากขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางตลาดการเงินที่ผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด (กรอบ 102.9-103.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,922 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงรายงานดัชนี Leading Indicator ของสหรัฐฯ  

ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หลังรัฐสภาเตรียมจัดประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แต่ทว่า เรามองว่า สถานการณ์การเมืองไทยที่เริ่มมีความวุ่นวายน้อยลง และแนวโน้มการโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ก็มีความชัดเจน ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเราเริ่มเห็นแรงขายหุ้นไทยที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี แรงขายบอนด์อาจยังพอมีอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ทว่า เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ ทำให้แรงขายบอนด์ไทยอาจไม่ได้รุนแรงมากนัก

เรายังคงประเมินแนวต้านเงินบาทในโซน 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตเลือกนายกฯ มีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาด อย่าง บรรดาผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านดังกล่าว ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่กลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน จนกว่าการโหวตเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลผสมจะเสร็จสิ้น อย่างไรก็ดี เราประเมินแนวรับเงินบาทในระยะนี้ โซนแรกจะอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับหลักที่สำคัญถัดไป

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ส.ค. 2566 เวลา : 10:12:58

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:27 am