ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (18 ส.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 ส.ค.66) ที่ระดับ  35.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ Sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.35-35.54 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่า ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นได้ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงในช่วงเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน
 
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาส 42% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน) ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างเผชิญแรงขายต่อเนื่อง (Meta -3.1%, Netflix -3.0%) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -1.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.77%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -0.90% ท่ามกลางแรงขายหุ้นเทคฯ จากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก (SAP -2.5%, ASML -1.5%) รวมถึงแรงขายหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -2.7%, LVMH -2.2%) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดในรอบ 15 ปี แถวระดับ 4.33% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.28% ตามแรงซื้อบอนด์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่ยังคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ คงไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากขึ้นและเฟดก็อาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยต่อหลายครั้ง ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็สอดคล้องกับคำแนะนำของเราที่ยังคงมองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัวได้ โดยที่ Risk-Reward คุ้มค่า ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 4.00% เช่นในปัจจุบัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เพราะผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้เงินดอลลาร์มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นและโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวระดับ 103.4 จุด (กรอบ 103.0-103.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นทดสอบระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ทว่า การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวน ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนอาจได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะอากาศที่แปรปรวนล่าสุด ทำให้ยอดค้าปลีกอาจหดตัว -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากที่โตกว่า +0.7% ในเดือนก่อน

ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หลังรัฐสภาเตรียมโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในสัปดาห์หน้า อีกทั้งการจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ดูมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ ซึ่งล่าสุด นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มแผ่วลง ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุระดับ 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเมืองไทยที่มีความวุ่นวายน้อยลงและการจัดตั้งรัฐบาลผสมใหม่ก็มีความชัดเจน ได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากแรงซื้อหุ้นไทยสุทธิราว +782 ล้านบาทในวันก่อนหน้า

ทั้งนี้ แม้เราประเมินโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นแผ่วลง แต่ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ และเงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ หากสถานการณ์การเมืองไทยกลับมาวุ่นวายมากขึ้นอีกครั้ง ทำให้เรายังคงประเมินแนวต้านเงินบาทในโซน 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ หากการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลง เรามองว่า เงินบาทก็อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “จบรอบการอ่อนค่าที่ผ่านมา” โดยเราประเมินแนวรับเงินบาทในระยะนี้ โซนแรกจะอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับหลักที่สำคัญถัดไป

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ส.ค. 2566 เวลา : 10:15:07

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:28 am