ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด(23 ก.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ก.ค.66) ที่ระดับ  35.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ Sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.93-35.12 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลง ในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการย่อตัวลงของราคาทองคำ (คาดว่ายังคงมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า) ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลง และราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง 
 
ถ้อยแถลงล่าสุดของ Thomas Barkin ประธานเฟดสาขา Richmond  ที่ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารภูมิภาคหลายแห่งที่เผชิญการปรับลดเครดิตเรทติ้งจากทาง S&P ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี Dowjones ปรับตัวลง -0.51% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.28%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.68% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ทั้งกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Rio Tinto +1.3%, LVMH +0.8%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML +3.3%) ท่ามกลางความหวังว่า งบของบริษัท Nvidia สหรัฐฯ ผู้ผลิต Chip ชั้นนำจะออกมาแข็งแกร่ง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขา Richmond ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่าเฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดราว 45% และมีโอกาสราว 83% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยจนถึงการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนปีหน้า) ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดใหม่ แถวระดับ 4.37% ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงมาบ้าง ตามแรงซื้อของผู้เล่นบางส่วนในตลาด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.32% 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.1-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่กดดันให้ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,918-1,928 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรายังคงเห็นความพยายามในการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งก็มาจากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาดในจังหวะย่อตัว หรือ การทยอยปิดทำกำไรสถานะ Short ของผู้เล่นบางส่วน โดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อนึ่ง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจเริ่มเห็นโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำกลับมาได้เช่นกัน 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของฝั่งสหรัฐฯ หากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ก็อาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ และมีโอกาสที่เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังการโหวตเลือกนายกฯ เสร็จสิ้นลง ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยได้มากน้อยเพียงใด โดยจากสถิติในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงหลังการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาล หากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยสุทธิราว 3-4 หมื่นล้านบาท ก็มีโอกาสหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ราว +1% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ตามทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็อาจหนุนโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยมากขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว และหากเงินบาทเริ่มมีทิศทางแข็งค่าขึ้นชัดเจน เราคาดว่า ฟันด์โฟลว์บอนด์ระยะสั้นก็จะกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิ เพื่อสะท้อนการเพิ่มสถานะ Long THB ของผู้เล่นต่างชาติได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศของผู้เล่นบางส่วน อาทิ ฝั่งผู้นำเข้า โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น อย่าง ค่าเงินเยนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทิศทางเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าต่อหรือทรงตัว sideway ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดูดี และบรรดาเจ้าหน้าที่ต่างก็ส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งต้องรอติดตาม ถ้อยแถลงของประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการ Jackson Hole วันศุกร์นี้ อย่างใกล้ชิด อนึ่ง หลังจากที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ ทำให้เราประเมินโซนแนวต้านใหม่แถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ และแนวรับเงินบาทในระยะนี้ แถวโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ 

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ส.ค. 2566 เวลา : 10:24:50

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 8:17 pm