นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ส.ค.66) ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 34.90-35.13 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) จากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ จากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดเช่นกัน ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาดดังกล่าว ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อและโอกาสเฟดคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ลงบ้าง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน หนุนโดยความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบริษัท Nvidia +3.2% จะออกมาแข็งแกร่ง (ล่าสุดนักวิเคราะห์ต่างคงคำแนะนำ “ซื้อ” และปรับเป้าราคาขึ้น) ซึ่งภาพดังกล่าวยังหนุนให้หุ้นธีม AI ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน (AMD +3.6%, Alphabet +2.6%) นอกจากนี้ รายงานข้อมูลดัชนี PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังได้คลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงของเฟด ทำให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.59% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.10%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.39% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (SAP +1.0%, ASML +1.0%) ท่ามกลางความหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังรายงานดัชนี PMI ของยูโรโซนล่าสุดออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร อย่างไรก็ดี รายงานดัชนี PMI จากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง และยังส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงเช่นกัน (Total Energies -1.7%, BP -1.4%)
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.19% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากนัก เพื่อรอประเมินสัญญาณการปรับนโยบายการเงินจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole ก่อน ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลง สู่ระดับ 103.3 จุด (กรอบ 103.3-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพลิกกลับมาลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า ในช่วงที่ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้นั้น อาจเริ่มมีโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำกลับมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางฝั่งเอเชีย ทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า BOK และ BI มีโอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.75% ตามลำดับ หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มชะลอลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง ขณะเดียวกันแนวโน้มเศรษฐกิจก็เริ่มมีการชะลอตัวลงบ้าง ตามผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะตลาดแรงงานและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทกลับมาชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาด และที่น่าสนใจ คือ ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง (ดัชนี DXY ใกล้แตะระดับ 104 จุด) แต่เงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักและยังคงติดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเพิ่มสถานะ Long THB หรือรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยขายเงินดอลลาร์
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะเสร็จสิ้นลง แต่เรายังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยที่ชัดเจนของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีเพียงแรงซื้อบอนด์ระยะสั้น (ซึ่งอาจเกี่ยวกับสถานะ Long THB) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยังคงต้องติดตามว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องได้หรือไม่ นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด จากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการ ที่ Jackson Hole ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนขึ้นได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว อาจทำให้ เงินบาทอาจทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่มีแนวโน้มที่จะติดโซนแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ (ยกเว้นว่าจะเห็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยชัดเจน) ส่วนแนวต้านของเงินบาทก็ยังคงเป็นโซน 35.00-35.15 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.05 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น