ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (29 ส.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 ส.ค.66) ที่ระดับ  35.21 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.27 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.18-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง 
 
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า แม้เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (โอกาสราว 61% จาก CME FedWatch Tool) แต่เฟดก็ใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ (Nvidia +1.8%, Meta +1.7%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.84% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.63%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นกว่า +0.89% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +1.8%, LVMH +1.7%) หลังทางการจีนปรับลดภาษีอากรแสตมป์ในการซื้อขายหุ้นเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งส่งผลให้ตลาหุ้นจีนปรับตัวขึ้นแรงในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML +2.1%, SAP +1.4%) เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างก็มองว่า เฟดก็ใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนคลายความกังวลต่อความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์จะปรับตัวขึ้นแรงและทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.20% ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นอาจจำกัดอยู่ใกล้โซนจุดสูงล่าสุดแถว 4.30% ขณะที่ Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวก็ยังมีความคุ้มค่า 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลง สู่ระดับ 103.9 จุด (กรอบ 103.9-104.2 จุด) โดยเงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (ทำให้เงินดอลลาร์มีความน่าสนใจน้อยลง) และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า ในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลตลาดบ้านของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board และ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตาการปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซน โดยทางคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจเริ่มชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงานในช่วงวันศุกร์ นอกจากนี้ เราพบว่า ในช่วงปลายเดือน ยังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาฝั่งผู้นำเข้า รวมถึงแรงซื้อสกุลเงินอื่น โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่าลงพอสมควรเมื่อเทียบกับเงินบาท และที่สำคัญ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ยังมีความไม่แน่นอนก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้ากลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ตามที่เราเคยประเมินไว้ โดยล่าสุด นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ไทยรวมกันกว่า -2.5 พันล้านบาท ในวันก่อนหน้า 

อนึ่ง แม้ว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง แต่เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากราคาทองคำก็เริ่มมีการปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ในการทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินเอเชียที่ดีขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มเติม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนสกุลเงินฝั่งเอเชีย ทำให้เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทอาจยังอยู่ในช่วง 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ส.ค. 2566 เวลา : 08:12:04

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:16 pm