ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (5 ก.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 ก.ย.66) ที่ระดับ  35.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.21 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.19-35.26 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยเรามองว่า เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเป็นหลัก ในขณะที่เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 
 
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Labor Day ทั้งนี้ สัญญาณฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ ยังไม่รีบกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.04% โดยตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงแรกตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็พลิกกลับมาย่อตัวลงตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางแรงกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) ที่ออกมาแย่กว่าคาด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดของฝั่งสหรัฐฯ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก่อนปรับสถานะการถือครอง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 104.1 จุด (กรอบ 104-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในตลาด และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในบางช่วง ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 1,963 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) ซึ่งตลาดคาดว่า ภาคการบริการของจีนอาจยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่โมเมนตัมการขยายตัวอาจชะลอลง ทว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนก็อาจช่วยหนุนให้ ภาคการบริการของจีนกลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ 

ในส่วนนโยบายการเงิน เรามองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ และภาพรวมเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อาจทำให้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินโอกาส ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (ถ้าขึ้นดอกเบี้ย จะขึ้นอีกกี่ครั้ง) โดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อประเด็นดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินยูโร (EUR) ได้

และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนสิงหาคม มีโอกาสเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 0.7-0.8% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าเกษตร (ข้าว ผักและผลไม้) ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ระดับฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1-3% ซึ่งเรามองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่มีความจำเป็นที่ชัดเจน จากเหตุผลด้านเงินเฟ้อในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่เราไม่ปิดโอกาสที่ กนง. อาจตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.50% (เราให้โอกาส 45%) จากความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ policy space ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินยังเอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า โดยเฉพาะจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และในช่วงนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่อาจประเมินว่า การขาดดุลการค้าอาจเพิ่มสูงขึ้น หากราคาสินค้าพลังงานปรับตัวขึ้น ขณะที่ยอดการส่งออกยังคงซบเซา นอกจากนี้ เรายังไม่เห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะทำให้เงินบาทขาดแรงหนุนฝั่งแข็งค่าในระยะสั้นนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจยังอยู่ในช่วง 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่าง ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง เช่นเดียวกันกับฝั่งผู้เล่นบางส่วนที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาท ก็อาจรอจังหวะทยอยเพิ่มสถานะ Long THB ได้ ส่วนแนวรับเงินบาทนั้น เรามองว่า โซน 35.10-35.20 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นโซนแนวรับในช่วงนี้ได้ จนกว่าจะเห็นการกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจน

ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ย. 2566 เวลา : 10:29:07

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:17 am