ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (12 ก.ย.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.53 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 ก.ย.66) ที่ระดับ  35.53 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.51 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.47-35.54 บาทต่อดอลลาร์) โดยถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงมาบ้าง แต่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.30% อีกครั้ง ก็ยังคงกดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้างและเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าให้กับเงินบาท

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดย Tesla +10% หลังนักวิเคราะห์กลับมาแนะนำการลงทุนในหุ้น Tesla จากแนวโน้ม Super computer ใหม่ของบริษัทจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นเทคฯ ในธีม AI ต่างปรับตัวขึ้น ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.67% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.34% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +3.4%) จากความหวังว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ปรับตัวขึ้น +0.1%y/y ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นทั้ง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหว sideway ใกล้ระดับ 4.30% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นได้บ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ในจังหวะยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (นอกเหนือจากการรอลุ้นอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ) ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว เนื่องจากระดับยีลด์ที่สูงขึ้น มี risk/reward ที่น่าสนใจและเรามองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ ก็อาจปรับตัวขึ้นไม่ได้มาก ยกเว้นว่าเฟดจะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ซึ่งเราคงประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวยังต่ำอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway หลังจากทยอยอ่อนค่าลงในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุม ECB ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.6 จุด (กรอบ 104.4-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหว sideway และมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่ทว่าจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงผันผวนใกล้ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และค่าเงินยูโร (EUR) ได้ โดยจะเริ่มจาก รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษล่าสุด โดยตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานอังกฤษมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยอัตราการว่างงาน (Unemployment) อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงที่ไวกว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ เราประเมินว่า การชะลอตัวลงของตลาดแรงงานอาจไม่สามารถเปลี่ยนใจ BOE ต่อการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษยังคงอยู่ในระดับสูงมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายของ BOE กอปรกับ แรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างก็ยังคงมีอยู่ โดยอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ไม่รวมโบนัส ในเดือนกรกฎาคม อาจยังคงสูงกว่า +7.8%

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งมีโอกาสที่บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันอาจปรับลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจลงได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรปในระยะนี้ออกมาแย่กว่าคาด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่มาจากการที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนดังกล่าว ก็เริ่มแผ่วลงบ้าง ในขณะที่ ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้ง แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่เรายังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างที่เราเคยคาดหวังไว้ ว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมและคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ทั้งข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ และดัชนี ZEW ของเยอรมนี ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษและเงินยูโร 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ และรอลุ้นผลการประชุม ECB ทำให้การปรับสถานะถือครองอาจยังไม่ชัดเจนนัก

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ย. 2566 เวลา : 10:57:49

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:18 am