ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (19 ก.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ก.ย.66) ที่ระดับ  35.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.72 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.65-35.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ (ซึ่งได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) บ้าง ก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ในสัปดาห์นี้ 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะ wait and see เพื่อรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด แม้ว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่จะมองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้และเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันไปจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากความกังวลว่า การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เริ่มเผชิญปัญหาอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิด Government Shutdown ได้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.07%  
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -1.13% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป หากทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ 
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยเข้าซื้อบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มากขึ้น (รวมถึงบอนด์ 10 ปี ในประเทศอื่นๆ) ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดลง ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.30% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เรายังคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideway และถ้าหากจะลุ้นให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะกลับมาปรับตัวลดลงได้ชัดเจน อาจต้องรอจับตา Dot Plot ใหม่ของเฟดในการประชุมเฟดสัปดาห์นี้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 105 จุด (กรอบ 105-105.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทยอยปรับตัวขึ้นจากโซน 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,955 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ว่าจะมีความแตกต่างจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้าหรือไม่ โดยหากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของยูโรโซน ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 5.3% ก็อาจสะท้อนว่า ECB ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ ถ้าจำเป็น ทั้งนี้ เรามองว่า ECB อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวลงกลับสู่เป้าหมายได้ในที่สุด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองก่อนจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ทำให้ เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideway ในกรอบ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสวนทางกับคาดการณ์ของเราที่มองว่า นักลงทุนต่างชาติจะทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หลังรับรู้ผลการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทย  ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ถือสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจรอจังหวะขายทำกำไรออกมาบ้าง ทำให้เราประเมินแนวต้านเงินบาทอาจยังไม่เกินโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ และเนื่องจากเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ทำให้ เรามองว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง ก็อาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ 

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.60-35.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ย. 2566 เวลา : 10:00:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:58 am