ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (20 ก.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ก.ย.66) ที่ระดับ  36.07 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.95 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.92-36.08 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาในประเทศไทย

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขายเพื่อลดความเสี่ยงของบรรดาผู้เล่นตลาด ก่อนที่จะถึงการประชุม FOMC ของเฟด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลง หรือ ทรงตัว (Amazon -1.7%, Microsoft -0.1%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดลดลง -0.22%  
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.04% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -1.5%, Dior -1.2%) เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยุโรปก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Total Energies +1.7%, Shell +0.9%) ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดการณ์ว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดอาจยังคงสะท้อนว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงไม่ได้มากเท่ากับที่เฟดเคยประเมินใน Dot Plot ก่อนหน้า ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.37% (ซึ่งเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.40%) ทั้งนี้ เรายังคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideway และควรรอจับตา Dot Plot ใหม่ของเฟดซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ (ปรับตัวขึ้นต่อ หรือ พลิกกลับมาย่อตัวลง)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินโดยรวมที่ยังหนุนการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.1 จุด (กรอบ 104.8-105.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,952 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประชุม FOMC ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

สำหรับวันนี้ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ECB ซึ่งปัจจุบันผู้เล่นในตลาดต่างเริ่มคาดการณ์ว่า ทั้งสองธนาคารกลางอาจใกล้ถึงจุดยุติการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น

ส่วนไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุม FOMC ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลา 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทยของเช้าตรู่วันพฤหัสฯ โดยเราประเมินว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินจะผันผวนไปตาม การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ และคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) โดยเรามองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจทำให้เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ลงบ้างในปีนี้และปีหน้า แต่การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เฟดคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรือ ปรับขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด อาจทำให้เฟดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ เราประเมินว่า ในส่วนของ Dot Plot ใหม่ อาจสะท้อนว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงาน ซึ่งล่าสุดอาจได้รับผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers:UAW) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเผชิญภาวะ Government Shutdown ในช่วงปลายปีได้ ทั้งนี้ เราไม่ปิดโอกาสที่ Dot Plot ใหม่จะยังคงชี้ว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะไม่ต่างจาก Dot Plot ก่อนหน้า เนื่องจากการประท้วงของ UAW หากประสบความสำเร็จก็อาจยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า ตามการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาพลังงานก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น อนึ่ง เรามองว่า หาก Dot Plot ใหม่ ไม่ได้ชี้ว่า เฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง ในปีนี้ และลดดอกเบี้ยลง -1% ตามที่ประเมินไว้ใน Dot Plot ครั้งก่อน เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนักหรืออาจทรงตัว sideway  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของเราไปมาก โดยเงินบาทอ่อนค่าหนักกว่าสกุลเงินเอเชียอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมาจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบอนด์ หลังนักลงทุนต่างชาติต่างไม่มั่นใจต่อแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล นอกจากนี้ แรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกได้ชะลอลงไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่อาจทยอยขายเงินดอลลาร์ไปพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ เปิดทางให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ เรายอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่มากกว่าคาดนั้น ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ หลังบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้น ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ โดยเราประเมินว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง หาก Dot Plot ใหม่ ชี้ว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งในปีนี้ และเฟดอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเกินกว่า -1% ในปีหน้า ตามที่เคยประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนมิถุนายน ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินบาททยอยอ่อนค่าทดสอบโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่ หาก Dot Plot ใหม่ ไม่ได้ชี้ว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -1% (หรือมากกว่านั้น) ในปีหน้า เราคาดว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.15 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC 

และ ประเมินกรอบเงินบาท ในช่วง 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ย. 2566 เวลา : 09:32:08

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:18 am