ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (26 ก.ย.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.17 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ก.ย.66) ที่ระดับ  36.17 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.14 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 36.09-36.22 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ โดยการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับหลักอีกครั้ง

แม้ว่า ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) แต่ทว่า หุ้นธีม AI ต่างสามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง นำโดย Amazon +1.7% หลัง Amazon เตรียมลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเข้ามาแข่งขันในด้าน Generative AI โดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI ที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ ก็สามารถช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.40%  
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อราว -0.62% ท่ามกลางความกังวลว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ หุ้นธีมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -3.4%) และกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -1.9%) ต่างปรับตัวลงหนัก หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ของจีนในช่วงสุดสัปดาห์นี้
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในระยะนี้ ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.55% สูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้พอสมควร ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ โดยต้องจับตาทั้งปัจจัยเสี่ยงการเมืองภายในสหรัฐฯ (ประเด็นผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ เพื่อหลีกเลี่ยง Government Shutdown) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 106 จุด (กรอบ 105.5-106.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และท่าทีของบรรดาธนาคารกลางหลักที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับหลัก (ซึ่งหากหลุดแนวรับนี้ มีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจลดลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก) ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) ของไทยในเดือนสิงหาคม โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ยอดการส่งออกอาจหดตัวต่อเนื่อง -3.6%y/y ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้า และแม้ว่า ยอดการนำเข้าจะหดตัว -10%y/y เช่นกัน แต่ทว่าโดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) อาจขาดดุลกว่า -1.8 พันล้านดอลลาร์

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Consumer Confidence 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา พร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านหลักในระยะสั้น แถวโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า หากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยและเดินหน้าเทขายทั้งหุ้นรวมถึงบอนด์ไทยอย่างต่อเนื่อง เงินบาทก็สามารถอ่อนค่าทดสอบโซนดังกล่าวได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงทยอยรับรู้รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย โดยหากยอดการส่งออกหดตัวน้อยกว่าคาด จนทำให้ดุลการค้าอาจไม่ได้ขาดดุลไปมากกว่า -1.8 พันล้านดอลลาร์ ตามที่ตลาดคาด ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อนึ่ง เราคงมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งกรณีที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้ชัดเจน ควรเห็นทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน (สัปดาห์นี้จะมีข้อมูลสำคัญ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อ PCE) ทำให้ตลาดเริ่มไม่เชื่อใน Dot Plot ใหม่ของเฟด

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ย. 2566 เวลา : 10:17:24

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:21 am