ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (28 ก.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 ก.ย.66) ที่ระดับ  36.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.55 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.52-36.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงหนัก ซึ่งเราคาดว่า โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง หลังการพุ่งขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ (ตามรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงมากกว่าได้) ยังคงสร้างความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้นานกว่าคาด (Higher for Longer) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อที่อาจได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.02% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อลงต่อเนื่อง -0.18% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ อาทิ หุ้นสาธารณูปโภค (Utilities) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.4%) หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่า กระบวนการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ (Disinflation) อาจถูกกระทบได้ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (Higher for Longer) ซึ่งภาพดังกล่าว ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.60% ทั้งนี้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นสูงกว่าแนวต้านระดับ 4.50% ที่เราเคยประเมินไว้ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้ หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่า การทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยากและอาจเห็นการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญแถว 106.6 จุด (กรอบ 106.2-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,895 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตามที่เราประเมินไว้ว่ามีความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจลดลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก) ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อาทิ GDP ไตรมาสที่ 2 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด หรือ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งอยู่ ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้ม “Higher for Longer” สำหรับดอกเบี้ยเฟด ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ แม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.50% สวนทางกับที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คาด (แต่เป็นไปตามที่เราคาด) แต่ก็ไม่สามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ยังคงกดดันค่าเงินบาท คือ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดบอนด์ที่อาจยังคงดำเนินต่อไปได้บ้าง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อทำจุดสูงสุดใหม่ ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้เราต้องปรับมุมมองใหม่และประเมินแนวต้านที่เป็นไปได้ของเงินบาท รวมถึงจุดอ่อนค่าสุดของเงินบาท โดยในเชิง Technical เงินบาทจะมีโซนแนวต้านอยู่ในช่วง 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าหลุดโซนดังกล่าว จะมีความเสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็วไปสู่โซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เราได้ประเมินจุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทที่เป็นไปได้ใหม่ โดยอ้างอิง Valuation ของเงินบาทจากดัชนีเงินบาท REER เราพบว่า จุดอ่อนค่าสุดที่เป็นไปได้ของเงินบาท (Z-Score ของ REER ราว -2.0 เท่า) จะอยู่ที่ประมาณ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน แถวระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ พอสมควร

ทั้งนี้ เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้างและการอ่อนค่าอาจชะลอลงได้ หากนักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยมากขึ้น หลังล่าสุด ดัชนี SET ได้ปรับตัวลงมาสู่โซนแนวรับสำคัญ และใกล้กับช่วงที่ความเสี่ยงการเมืองไทยร้อนแรง ทำให้เรามองว่า ณ ปัจจุบัน ความเสี่ยงการเมืองได้ลดลงไปมาก อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยก็ยังคงสดใสอยู่ กอปรกับระดับราคา (valuation) ของหุ้นไทยก็ไม่แพง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็ควรหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าสะสมหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน (อนึ่ง Krungthai CIO แนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อสะสมหุ้นไทย โดยมีเป้าระยะสั้น SET แถว 1,540-1,550)

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2566 เวลา : 11:30:24

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:23 pm