ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (29 ก.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.59 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 ก.ย.66) ที่ระดับ  36.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.75 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.52-36.79 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาผสมผสาน ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง และทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้น (Technical Rebound) ของสกุลเงินหลัก ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) จากโซนแนวรับหลักก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ได้กดดันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปได้มาก

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงมาบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Tesla +2.4%, Meta +2.1%) ต่างรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง  อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ ท่ามกลางความเสี่ยงการเกิด Government Shutdown หากสภาคองเกรสยังไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณได้ทันเวลา อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.59% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.36% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +1.0%) และกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +2.2%) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานดัชนี PMI ของจีนในช่วงสุดสัปดาห์อาจสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ หุ้นทั้งสองกลุ่มต่างเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Shell +1.2%) 
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงการย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.60% หลังจากพุ่งขึ้นใกล้ระดับ 4.70% ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้ หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่า การทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยากและอาจเห็นการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นได้ (สอดคล้องกับภาวะตลาดบอนด์ช่วงนี้ที่ผันผวนสูงขึ้น โดย การปรับตัวขึ้นลงมากกว่า 10bps อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาย่อตัวลง กดดันโดย Technical Rebound ของทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง กดดันให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลงใกล้โซน 106.2 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ จะย่อตัวลงบ้าง แต่ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยมีจังหวะลดลงสู่ระดับ 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,883 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อจากทั้งฝั่งยูโรโซนและสหรัฐฯ โดยตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในช่วงราว 16.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ได้อ่อนค่าลงและเริ่มแกว่งตัว sideway ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในวันนี้ นอกจากนี้ หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังย่อตัวลงมาทดสอบโซนแนวรับสำคัญ ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงไม่หายไปไหน โดยในช่วงปลายเดือน เรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้ประกอบการอยู่ นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในฝั่งหุ้นที่สวนทางกับการประเมินของเรา ที่คาดว่า แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงได้ หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวลงทดสอบโซนแนวรับ อนึ่ง การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย รวมถึงแรงขายบอนด์ไทยได้ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในช่วงนี้ 

ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง ความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั้งในฝั่งยูโรโซนและฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงนี้ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นจากช่วงปกติได้พอสมควร

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ 

และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 36.30-36.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2566 เวลา : 10:15:02

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:31 am