ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (2 ต.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (2 ต.ค.66) ที่ระดับ  36.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.43 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 36.39-36.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามทิศทางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงเช้านี้ เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากการอ่อนค่าลงของเงินหยวนจีน หลังรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ออกมาแย่กว่าคาด สวนทางกับ ดัชนี Official PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ที่รายงานก่อนหน้า
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา รายงานดัชนี ISM PMI และยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งไทย รอติดตาม อัตราเงินเฟ้อ CPI

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกันยายน อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls:NFP) โดยในส่วนของดัชนี ISM ภาคการผลิต ตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯ อาจฟื้นตัวดีขึ้น แต่โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต ที่ระดับ 47.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ส่วนภาคการบริการ แม้ว่าจะยังคงขยายตัวได้ แต่จะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงชัดเจน หลังการใช้จ่ายครัวเรือนอาจเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวลงต่อเนื่องของการจ้างงาน รวมถึงผลกระทบจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง แย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี ISM PMI ภาคการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 53.5 จุด ส่วนในฝั่งตลาดแรงงาน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า การจ้างงานมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดย NFP เดือนกันยายน อาจเพิ่มขึ้นราว 1.6 แสนราย ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1.9 แสนราย (ซึ่งต้องจับตาว่า จะมีการปรับปรุงข้อมูลก่อนหน้าหรือไม่ เพราะในปีนี้ NFP มักจะถูกปรับลดลงราว -5 หมื่นตำแหน่ง หลังการปรับปรุงข้อมูล) ส่วนอัตราการว่างงานอาจทรงตัวที่ระดับ 3.8% ไม่ต่างจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ที่จะขยายตัว +4.3%y/y เท่ากับเดือนก่อนหน้า และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด หลังจากล่าสุด อัตราเงินเฟ้ออังกฤษและยูโรโซน ชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มมองว่า ทั้ง BOE และ ECB อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว

* ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งญี่ปุ่น อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ Tankan ที่สำรวจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึง ข้อมูลตลาดแรงงานญี่ปุ่น โดยเฉพาะ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage growth) ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ BOJ ได้ หากภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนค่าจ้างก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จนอาจทำให้ BOJ มั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับเป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน ในส่วนผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางฝั่งเอเชีย เราประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในหลายประเทศ จนเข้าใกล้เป้าหมายของบรรดาธนาคารกลาง แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากภาวะ El Nino และการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจทำให้บรรดาธนาคารกลางฝั่งเอเชีย เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม โดยธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA), ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.10%, 5.50% และ 6.50% ตามลำดับ  

* ฝั่งไทย – เราประเมินว่า แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้วยการลดค่าไฟฟ้าลง แต่ทว่า ผลกระทบจากภาวะ El Nino อาจยังหนุนให้ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นราว +0.3%m/m (ส่วนใหญ่มาจากการปรับตัวขึ้นของราคาข้าว แป้ง ผักและผลไม้) นอกจากนี้ ราคาพลังงานยังปรับตัวขึ้นไม่น้อยกว่า +2%m/m ทำให้โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อาจเพิ่มขึ้น +0.2%m/m หรือ +0.86%y/y ทั้งนี้ หากโมเมนตัมอัตราเงินเฟ้อรายเดือนเพิ่มขึ้นไม่เกิน +0.2%m/m ก็อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากนักและการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจถึงจุดยุติแล้วที่ระดับ 2.50% อนึ่ง การฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ดีขึ้น อาจช่วยหนุนให้ดัชนี PMI ภาคการผลิตของไทยในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.5 จุด ได้ สอดคล้องกับ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ที่อาจปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 50 จุด ได้อีกครั้ง หนุนโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มแผ่วลงบ้าง และการอ่อนค่าอาจยังถูกจำกัดแถวโซนแนวต้านล่าสุดแถว 36.85 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวน (แต่มองว่าแรงขายอาจลดลง) นอกจากนี้ ควรระวังและจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาทองคำ โดยการปรับฐานต่อเนื่องของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสชะลอการแข็งค่าหรือพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะฝั่งการจ้างงานไม่ได้ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของเฟด ทั้งนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงก็อาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.25-36.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2566 เวลา : 09:53:39

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:15 am