ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (9 ต.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.94 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ต.ค.66) ที่ระดับ  36.94 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  37.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในกรอบ 36.88-37.21 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง หลังรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก หนุนให้ในช่วงแรกเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลงแรง อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมไม่ได้ดีกว่าคาดไปทั้งหมด โดยอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงชะลอตัวลง ส่วนอัตราการว่างงานก็สูงกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้สุดท้าย เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ได้หนุนให้เช้านี้ ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแรง ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นต่อ ทำให้ ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ 
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์เริ่มย่อตัวลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และควรเตรียมรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน จากภาวะสงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่อาจขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้า รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ถือว่า ออกมาผสมผสาน โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นดีกว่าคาดไปมาก ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของเฟดมากนัก โดยผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสราว 43% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงราว -75bps ในปีหน้า ทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นราว +0.3%m/m หรือ +3.6%y/y หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน รวมถึงการพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์มือหนึ่งและมือสอง ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y ทั้งนี้ แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะชะลอลงต่อเนื่อง ทว่า เฟดอาจยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อได้ ซึ่งอาจทำให้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจเดินหน้าส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ ไม่ว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนในระยะสั้นได้ โดยหากสงครามขยายวงกว้างมากขึ้น ก็อาจทำให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ในระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อาทิ เงินดอลลาร์ เงินเยนญี่ปุ่น และทองคำ ส่วนราคาน้ำมันดิบก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์สงครามอาจส่งผลกระทบต่อโฟลว์น้ำมันจากตะวันออกกลาง ทั้งในแง่การผลิตและการส่งออกน้ำมันจากภูมิภาคดังกล่าว

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทาง ECB หลังล่าสุด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซนยังคงสะท้อนภาพการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้เล่นในตลาด (รวมถึงเรา) มองว่า ECB อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว

* ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) ในเดือนกันยายน และอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า แม้ว่ายอดการส่งออกของจีนอาจยังคงหดตัวราว -7%y/y แต่ก็เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง จาก -8.8%y/y ในเดือนก่อน ทั้งนี้ ยอดการนำเข้าที่อาจลดลง -6%y/y ดีขึ้น จากที่ดิ่งลงกว่า -7.3%y/y ก็อาจสะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นและส่วนหนึ่งก็อาจมาจากผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศก็อาจสอดคล้องกับ การทยอยปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ CPI สู่ระดับ +0.2%y/y ทั้งนี้ แม้ว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทว่าทางการจีนอาจจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

* ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 57.9 จุด ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อย่างมาตรการลดค่าไฟฟ้าและตรึงราคาน้ำมันดีเซล

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้จะเริ่มเห็นโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ทว่าฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวน นอกจากนี้ ควรระวังและจับตาทิศทางราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาทองคำ หลังความเสี่ยงสงครามล่าสุดอาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า แต่ในขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นได้ และจะเป็นปัจจัยช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้ว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มแผ่วลง แต่เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่ หากผู้เล่นในตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากความกังวลภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส นอกจากนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI และท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด (Higher for Longer)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.60-37.25 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ต.ค. 2566 เวลา : 08:47:56

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:14 am