นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 ต.ค.66) ที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.11 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.89-37.13 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่มองว่า เฟดอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยลดลง หลังบอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
แม้ว่าความกังวลสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินบ้าง ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มผู้ผลิตอาวุธ อาทิ Lockheed Martin +8.9% นอกจากนี้ ความกังวลผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากภาวะสงคราม ยังส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นแรงตามน้ำมันดิบ (Exxon Mobil +3.5%) ส่วนบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ยังพอได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.63%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.26% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -2.6%, Dior -2.4%) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลว่าภาวะสงครามอาจกระทบยอดขายในฝั่งตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.9%, Shell +2.6%)
ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ถูกกดดันจากภาวะสงคราม รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่มองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.65% ทั้งนี้ แม้ว่าในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจถูกกดดันจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (ความเสี่ยงสงครามในตะวันออกกลาง) ทว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายเงินอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทำให้เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 106 จุด (กรอบ 105.9-106.6 จุด) โดยแม้ว่าผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่เงินดอลลาร์ก็ไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดกลับเลือกที่จะถือ ทองคำ และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลักในช่วงนี้ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ระบุว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่
นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง ทั้ง เฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีเจ้าหน้าที่บางส่วนของทั้ง เฟด และ ECB ออกมาส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดยุติลงแล้ว ซึ่งอาจช่วยคลายความกังวลแนวโน้มธนาคารกลางหลักเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นานขึ้น (Higher for Longer)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน แม้ว่าโมเมนตัมฝั่งแข็งค่าเริ่มกลับมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ เนื่องจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นได้หนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่ หากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้า ซึ่งจะกดดันแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังมีความผันผวนอยู่ ทั้งนี้ เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยอาจชะลอตัวลง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลง ส่วนในฝั่งตลาดหุ้น เราเริ่มเห็นแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาบ้าง
ทั้งนี้ เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทไว้แถว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ และคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่า 37.50 บาทต่อดอลลาร์ (ตามที่เราได้ประเมินไว้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน) ขณะที่ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยยังให้โซนแนวรับแรกแถว 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และโซนแนวรับถัดไปที่ 36.60 บาทต่อดอลลาร์
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.05 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น