นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (17 ต.ค.66) ที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.23-36.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามแรงซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง อาจยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น จนทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ JPM, Citi, United Health รวมถึงความหวังของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในสัปดาห์นี้ที่คาดว่าจะออกมาสดใส ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดมองข้ามความเสี่ยงสงครามที่กำลังร้อนแรงอยู่และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.06%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้น +0.23% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ Rio Tinto +2.8% และหุ้นกลุ่มการเงิน UBS +1.9% ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานผลประกอบการของหุ้นกลุ่มดังกล่าวอาจออกมาดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง
ในฝั่งตลาดบอนด์ การทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของบรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.70% ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะแน่ใจว่า เฟดอาจไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ (ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงหรือแย่ลงชัดเจน) ทั้งนี้ เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงิน แม้ว่าความเสี่ยงสงครามยังคงมีอยู่ แต่ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์สงครามล่าสุดมากนัก ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงในช่วง Earnings Season ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อลงสู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 106.1-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ติดโซนแนวต้าน 1,935-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านได้อีกครั้ง เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเข้ามาทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็สามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มการบริโภคในสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยหากยอดการจ้างงานของอังกฤษมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน ก็จะเพิ่มโอกาสธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25%
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาพัฒนาการของสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ขณะเดียวกัน หากผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ในกรณีที่รายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง (หากความเสี่ยงสงครามไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่าได้
อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความผันผวนอยู่ โดยเรายังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย “อย่างต่อเนื่อง” ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะทำให้เงินบาทยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยหากยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง ตามคาด หรือ ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมองว่า เฟดคงไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งในภาพดังกล่าว เราอาจเห็นการปรับตัวอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ และการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท หรือ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
ในทางกลับกัน หากยอดค้าปลีกออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ เฟดก็คงไม่รีบลดดอกเบี้ยลงและอาจลดดอกเบี้ยลงได้แค่ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าว จะหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นมา พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ไม่ยาก และกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกจะอยู่แถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.40 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
และประเมินกรอบเงินบาท 36.10-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
ข่าวเด่น