ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (20 ต.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ต.ค.66) ที่ระดับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.47 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 36.36-36.51 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ยังคงร้อนแรง อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell (ช่วง 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ขณะเดียวกัน ราคาทองคำ ก็สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง แม้ว่าในจังหวะเดียวกัน เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติม

แม้ว่าประธานเฟดจะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทว่าประธานเฟดยังคงเน้นย้ำถึงความต้องการของเฟดที่จะควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในระดับสูงได้นาน ซึ่งมุมมองดังกล่าวของประธานเฟด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 5% กดดันบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของ Tesla ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ส่งให้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรง -9.3% กดดันให้ โดยรวมดัชนี S&P500 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.85% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงกว่า -1.19% จากทั้งความกังวลสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ยังคงร้อนแรง รวมถึง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาด และความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักที่อาจอยู่ในระดับสูงได้นานขึ้นกว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น SAP +5.1% หลังบริษัทเปิดเผยว่ารายได้กลุ่มธุรกิจ Cloud ยังโตได้ดี
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ตอกย้ำมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 5.00% ซึ่งเป็นระดับที่ก่อนหน้านี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นมาถึงหรือทะลุไปได้ไกล และแม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้ เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอย Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่มาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 106.3 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลภาวะสงคราม ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นได้ ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลภาวะสงคราม อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนต่อการขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดก็มีส่วนช่วยหนุนให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,988 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ โดยหากยอดค้าปลีกชะลอลงแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงช้าก็ตาม

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังล่าสุดประธานเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ และส่งสัญญาณเพียงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจอยู่ในระดับสูงได้นาน เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวกลับสู่เป้าหมายของเฟดได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้ามากนัก เนื่องจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ไทย และทำให้ยังมีโอกาสเห็นแรงขายบอนด์ไทยได้บ้าง อย่างไรก็ดี หากราคาทองคำยังคงได้แรงหนุนจากภาวะสงครามที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำได้ 

เราคงมองว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแถว 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกันโซนแนวรับอาจยังคงเป็นช่วง 36.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาด โดยเราคงแนะนำให้ติดตามสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส อย่างใกล้ชิด รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่ควรติดตาม คือ ทิศทางเงินหยวนของจีน ซึ่งผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของจีนและปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ โดยจะสะท้อนผ่านภาพรวมตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง ดังจะเห็นได้จากการที่ เงินหยวนมักจะอ่อนค่าลงในจังหวะที่ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ต.ค. 2566 เวลา : 10:54:15

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:36 am