ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (26 ต.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.24 บาทต่อดอลลาร์


 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 ต.ค.66) ที่ระดับ 36.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.22 บาทต่อดอลลาร์ 
 
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.13-36.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกจำกัดโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) 
 
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเทขายหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Alphabet -9.5% หลังรายงานผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง นอกจากนี้ บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เข้าใกล้ระดับ 5.00% อีกครั้ง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ซึ่งแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าวได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.43% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.43% ทั้งนี้  
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.04% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้แย่ไปกว่าคาดมาก ส่วนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ผลประกอบการออกมาดีกว่าคาดก็ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ Dassault System +8%, Hermes +2.8%  
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) และความกังวลแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการขาดดุลงบประมาณ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.95% อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่ได้ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงมีความผันผวนอยู่ และจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นแนวโน้มขาลงได้ง่าย จนกว่าตลาดจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง และเฟดอาจไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ ทว่า เราคงคำแนะนำเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอย Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่มาก 
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.5 จุด (กรอบ 106.2-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงสามารถทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากแรงซื้อทองคำในช่วงตลาดการเงินผันผวน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลต่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสไปพอสมควร ทั้งนี้ เรามองว่า ราคาทองคำมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงและปรับตัวลดลงได้ หากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ถ้ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด  
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3  
 
โดยในส่วนของการประชุม ECB นั้น เราประเมินว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วที่ระดับ 4.00% (Deposit Facility Rate) หลังภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น อนึ่ง เราจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB และแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน 
 
สำหรับรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 นั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวกว่า +4.1%q/q, เทียบรายปี (GDPNow โดย Atlanta Fed ประเมิน +5.4%) อย่างไรก็ดี แม้ว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวได้แข็งแกร่ง ทว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในระยะข้างหน้า ตามภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการเริ่มเก็บหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loans) ในเดือนตุลาคม และปริมาณเงินออมส่วนเกิน (Excess Saving) ที่ได้ลดลง จนอาจหมดไปแล้วสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 
 
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุม ECB ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้ 
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งต้องจับตาว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาเทขายทั้งหุ้นและบอนด์ไทยเพิ่มเติมหรือไม่ หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงในคืนที่ผ่านมา อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 5% อีกครั้ง นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน โฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง 
 
ทั้งนี้ เรามองว่า หากราคาทองคำยังคงทรงตัวแถว 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ปรับตัวขึ้นบ้าง ก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ ทว่า เรายังมองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer)  
 
เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาด ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ตั้งแต่ช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB รวมถึงถ้อยแถลงของประธาน ECB (ในช่วงเวลาประมาณ 19.15 น. และ 19.45 น. ตามเวลาประเทศไทย) และรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 (ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยหาก ECB กังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนมากขึ้น พร้อมส่งสัญญาณจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้ไม่ยาก ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ได้ 
 
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง 
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.35 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงาน GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ  
 
และมองกรอบในช่วง 36.05-36.55 บาท/ดอลลาร์ หลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และรายงาน GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ต.ค. 2566 เวลา : 10:11:04

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:58 am