ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (27 ต.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ต.ค.66) ที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.25 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 36.22-36.36 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงาน GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ไม่นาน ก็เผชิญแรงขายทำกำไร และเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมาจากทั้งการปรับสถานะ Short ของผู้เล่นในตลาด ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงาน GDP ล่าสุด ได้สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ซึ่งจะลดโอกาสการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ ที่ยังสามารถแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากทั้งความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ รวมถึง ความกังวลต่อแนวโน้ม เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวกว่า +4.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก โดยแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft -3.8%, Meta -3.7%, Nvidia -3.5% ได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.76% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.18% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาลดลง -0.48% กดดันโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาน่าผิดหวัง อาทิ Mercedes-Benz -5.8%, BNP -2.6% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% (Deposit Facility Rate) ตามที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า หลังภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า รายงาน GDP สหรัฐฯ ล่าสุด จะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ทว่า รายงานดังกล่าว ก็สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงมากขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเหลือไม่เกิน 28% ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับแรงขายทำกำไรสถานะ Short บอนด์ระยะยาว และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จากความกังวลสถานการณ์สงคราม รวมถึงความผันผวนในตลาดการเงิน ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงจากระดับ 4.98% สู่ระดับ 4.85% สะท้อนถึงความผันผวนในตลาดบอนด์ที่สูงพอสมควรในช่วงนี้ (ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวในกรอบ 4.8%-5.0%)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นหลังรายงาน GDP สหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และแรงขายทำกำไรสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 106.6 จุด (กรอบ 106.5-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงระหว่างวันจะได้แรงหนุนจากความกังวลสถานการณ์สงครามที่ร้อนแรงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็เผชิญแรงกดดันบ้างในช่วงเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ไปไกลและยังคงแกว่งตัวในโซน 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ จังหวะการรีบาวด์ของราคาทองคำที่เกิดขึ้น หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.4% และ 3.7% ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นที่เฟดจะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ แต่อาจยังคงทำให้เฟดสามารถส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากกว่าปัจจุบัน

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน ท่ามกลาง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-Off) ซึ่งต้องรอจับตา ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น ขณะที่การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจช่วยชะลอแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติได้ ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน โฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าก็อาจยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ ทำให้เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์) 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ ราคาทองคำยังคงทรงตัวแถว 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ปรับตัวขึ้นบ้าง ก็อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ ทว่า เรายังไม่ได้มองว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ จนกว่าตลาดจะปรับลดมุมมองต่อแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer)

เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาด ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ตั้งแต่ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ (ในช่วงเวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยอัตราเงินเฟ้อกลับออกมาสูงกว่าคาดและไม่ได้ชะลอตัวลงตามที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น ได้ไม่ยาก ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ได้

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ 

และมองกรอบในช่วง 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์ หลังตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ต.ค. 2566 เวลา : 10:21:55

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:34 am