นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 ต.ค.66) ที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.85-35.97 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งเผชิญแรงขายทำกำไร หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินเยนญี่ปุ่นสู่ระดับ 149.15 เยนต่อดอลลาร์ จากการเก็งกำไรของผู้เล่นในตลาดช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ในวันอังคารนี้ ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เช่นกัน นอกจากนี้ เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังสามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยส่วนใหญ่นั้นออกมาดีกว่าคาด และอาจทำให้ผลกำไรในไตรมาสที่ 3 ยังขยายตัวต่อได้ สวนทางกับที่ผู้เล่นในตลาดได้คาดการณ์ว่า ผลกำไรอาจหดตัวลงในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.20%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.36% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare (Sanofi +3.3%, Novo Nordisk +2.7%) ซึ่งเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด รวมถึงความคาดหวังว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาสดใส จะยังหนุนแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.90% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสม เนื่องจาก Risk-Reward มีความน่าสนใจ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long เงินดอลลาร์ หลังตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง นอกจากนี้ การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่นล่าสุด ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง แต่การกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวในโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดย เราประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย Yield Curve Control อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับนโยบายการเงินหรือไม่ หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% พอสมควรมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันเงินเยนญี่ปุ่นก็อ่อนค่าหนักในปีนี้
นอกจากนี้ ทางฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ในเดือนตุลาคม โดยหากรายงานดัชนี PMI ของจีนสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์จีน ซึ่งจะส่งผลให้เงินหยวนจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชียทยอยแข็งค่าขึ้นได้
ทางฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB Consumer Confidence) และรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากค่าจ้างได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม BOJ ทำให้ เรามองว่า ตลาดค่าเงินอาจผันผวนสูงได้ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ โดยเฉพาะในกรณีที่ BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังและได้สะท้อนในการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนล่าสุด ซึ่งจะทำให้ เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น อาจถูกชะลอลงด้วยโฟลว์ขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ของบรรดาผู้เล่นในตลาด และแรงซื้อเงินดอลลาร์ ของผู้นำเข้าบางส่วน ทำให้ เงินบาทอาจมีโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น