นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 พ.ย.66) ที่ระดับ 35.53 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.49 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.38-35.58 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด หลังบอนด์ยีลด์ปรับตัวลงแรงในสัปดาห์ก่อนหน้า และการปรับสถานะก่อนตลาดรับรู้ผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับสำคัญในระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยซื้อทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง
แม้ว่า บรรยากาศโดยรวมในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ทว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เคลื่อนไหวผันผวน หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้มากนัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบเพิ่มความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟดในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.18%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงราว -0.16% ตามแรงขายทำกำไรของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในสัปดาห์ก่อนหน้า อาทิ ASML -1.0%, LVMH -0.8% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก และรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง GDP ไตรมาส 3 ของอังกฤษ ในสัปดาห์นี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมองว่า เฟดอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และเฟดอาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนพฤษภาคมหน้า ทว่า การปรับสถานะของผู้เล่นในตลาด หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงพอสมควรในสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึง การปรับสถานะ เพื่อรอประเมินผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 4.64% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาว ยังมีความน่าสนใจและคุ้มค่าความเสี่ยง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่กดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลง ใกล้ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (เงินเยนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ผันผวนไปตาม ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น) โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.3 จุด (กรอบ 104.8-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหลุดระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงมาสู่โซนแนวรับสำคัญแถว 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการส่งออกและยอดการนำเข้า อาจหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้นบ้าง
ส่วนในฝั่งออสเตรเลีย เราประเมินว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อาจทำให้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% ซึ่งต่างจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ที่มองว่า RBA อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย สู่ระดับ 4.35% ได้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้า รวมถึง ติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในระยะสั้น ซึ่งต้องจับตาว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้หรือไม่ นอกจากนี้ ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ที่เริ่มเห็นการขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติบ้าง อย่างไรก็ดี แรงซื้อบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทมากขึ้น (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) และอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน ในการทยอยเพิ่มสถานะ Long THB ได้ ซึ่งจะช่วยจำกัดการอ่อนค่าลงของเงินบาท
อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่าน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา เนื่องจาก ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ส่งผลกระทบต่อทั้ง เงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้น ในกรณีที่ ผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ยังเห็นความต้องการของผู้เล่นในตลาดมากขึ้น ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง พร้อมกับ การรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับของราคาทองคำ และทำให้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ทะลุระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยิ่งหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และทำให้ ราคาทองคำ เสียโมเมนตัมขาขึ้นและเทรนด์ขาขึ้น กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบแนวต้านแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไป 36.00 บาทต่อดอลลาร์) ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจีน โดยหากยอดการค้าระหว่างประเทศของจีนออกมาดีกว่าคาด สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนในช่วงระยะสั้น หรือ อาจช่วยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียเช่นกัน
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.60 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น