นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 พ.ย.66) ที่ระดับ 35.99 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.01 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway ใกล้ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.95-36.10 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ในช่วงที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันนี้
ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.08% หลังบรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก (Retailers) ในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงจับตาประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณได้ทันภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน นี้หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Government Shutdown
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้น +0.75% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน TotalEnergies +1.2% หลังราคาน้ำมันดิบทยอยปรับตัวสูงขึ้น จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าทางกลุ่ม OPEC+ อาจเดินหน้าลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ทั่วโลกได้
ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีก และผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกสหรัฐฯ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว ผันผวนใกล้ระดับ 4.65% ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่เกือบทะลุระดับ 152 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง พร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 105.7 จุด (กรอบ 105.6-106 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกจำกัดไว้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และอาจมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนหลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การปรับตัวลดลงของราคาพลังงานอาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น +0.1%m/m หรือ +3.3%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทว่า ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน อาจยังคงเพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y หลังราคาสินค้าบางส่วนอาจชะลอตัวในอัตราน้อยลง อาทิ ราคารถยนต์มือสอง ซึ่งการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ช้ากว่าที่เฟดต้องการ อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในตลอดทั้งสัปดาห์นี้)
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนของยอดการจ้างงานและอัตราการเติบโตของค่าจ้าง รวมถึง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 และ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดย ZEW สำหรับเยอรมนีและยูโรโซน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ว่าสภาคองเกรสจะสามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ Government Shutdown ได้หรือไม่ พร้อมกับรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีก อาทิ Home Depot ซึ่งจะช่วยสะท้อนภาพการใช้จ่ายในฝั่งสหรัฐฯ ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ ทั้งการอ่อนค่าและการแข็งค่าของเงินบาท ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงระหว่างวัน จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีความไม่แน่นอน โฟลว์ธุรกรรมทองคำ และความผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่น (หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น และช่วงนี้จะมีสัญญา Option เงินเยน ใกล้หมดอายุในปริมาณที่มาก)
อนึ่ง เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน กลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด และออกมาสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะสะท้อนผ่านการเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก กดดันให้ ราคาทองคำเสี่ยงปรับตัวลงต่อ และทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นแถว 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 35.85-36.25 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
ข่าวเด่น