นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 พ.ย.66) ที่ระดับ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.07-35.29 บาทต่อดอลลาร์) ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากโซนแนวรับ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจาก เงินดอลลาร์ โดยรวมยังคงแกว่งตัว sideway เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่เป็นที่ต้องการของผู้เล่นในตลาดมากนัก
บรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (The Magnificent Seven) ต่างปรับตัวขึ้นได้ดี นำโดย Nvidia +2.3%, Microsoft +2.1% ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของ Nvidia อาจออกมาสดใส ส่วนหุ้น Microsoft ก็ได้รับอานิสงส์จากข่าวการเข้ามาร่วมงานทีม AI ของ Sam Altman อดีต CEO ของ OpenAI ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ ได้หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.13% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.74%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย +0.10% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน Total Energies +1.9%, Shell +1.3% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน (เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ) ทำให้โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.45% อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีจังหวะผันผวนปรับตัวขึ้นได้บ้าง จนกว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น และลึกขึ้นกว่าคาด ถึงจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน การกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับล่าสุดแถว 148.4 เยนต่อดอลลาร์ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ทำโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.4 จุด (กรอบ 103.3-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) มีจังหวะย่อตัวลงสู่โซนแนวรับแถว 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นใกล้โซน 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideway ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง 23.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า และอาจเริ่มการลดดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า
และนอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ อย่าง Nvidia (รับรู้ในช่วงหลังตลาดปิดทำการ) รวมถึง รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ราว 2.00 น. ของวันพุธนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นอาจชะลอลงได้บ้าง และเงินบาทก็มีโอกาสแกว่งตัว sideway ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ในช่วงปลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง ทั้ง BOE และ ECB รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้บ้าง
นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาด หลังผู้เล่นในตลาดรับรู้ผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมได้ โดยหากผลประกอบการออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้ หุ้น Nvidia รวมถึง หุ้นเทคฯ ใหญ่อื่นๆ อาจปรับตัวลงหนัก ก็อาจทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะหนุนให้เงินดอลลาร์สามารถรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง
สำหรับโซนแนวรับ-แนวต้านนั้น เรายังคงประเมินว่า โซนแนวรับหลักของเงินบาทยังคงเป็นโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่แนวต้านสำคัญ อาจอยู่ในช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น