ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (28 พ.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 พ.ย.66) ที่ระดับ  35.03 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.13 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.02-35.14 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงระหว่างวันเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราคาด (เราประเมินเงินบาทอาจยังไม่แข็งค่าหลุดโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าเกินระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้ประกอบการ 

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังตลาดกลับมาเปิดทำการจากช่วงวันหยุด Thanksgiving โดยผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ รวมถึง ถ้อยแถลงของประธานเฟด ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.34% ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงก่อนหน้า ASML -0.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมบางส่วน LVMH -1.4% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกลับมามองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.40% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ยังคงส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งยังได้ช่วยหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 148.5 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามการปรับตัวลดลงของส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯกับญี่ปุ่น โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.2 จุด (กรอบ 103.1-103.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ของสหรัฐฯ รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราประเมินไว้ แต่เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง เมื่อเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน (ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอเข้าซื้อแถวโซน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์) ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังมีทิศทางไหลออกสุทธิจากตลาดทุนไทย โดยในฝั่งตลาดบอนด์ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวลดลงตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ในการทยอยขายทำกำไรได้ และนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ ส่วนในฝั่งหุ้น บรรยากาศในตลาดการเงินโลกที่ยังไม่กลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ทำให้เรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยจะยังคงมีความผันผวนอยู่ (อาจเห็นการซื้อสุทธิกลับการขายสุทธิได้)

อนึ่ง เราประเมินว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ สูงกว่านั้น ก็จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำได้ ส่งผลให้ เงินบาทก็ยังมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำเป็นปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า (ซึ่งจะช่วยจำกัดไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก) 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ย. 2566 เวลา : 10:26:07

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:21 am