นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 พ.ย.66) ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.93 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก (แกว่งตัวในช่วง 34.67-34.95 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากกว่าที่เราได้ประเมินไว้ โดยเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์
ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ อาทิ Tesla +4.5%, Microsoft +1.1% ต่างปรับตัวขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ตามความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่เริ่มออกมาสนับสนุนแนวโน้มเฟดทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ยังได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ที่ปรับตัวขึ้น ดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล Thanksgiving ที่จะขยายตัวได้ดี ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.29% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลง -0.30% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Hermes -2.0%, LVMH -1.8% ที่เผชิญการปรับลดเป้าราคาและแนวโน้มผลประกอบการจากบรรดานักวิเคราะห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้
ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนซึ่งออกมาสนับสนุนแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า) ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 4.30% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ความระมัดระวังความเสี่ยงที่ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ยังคงส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งยังได้ช่วยหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 147 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (Target แรกของ Trade Idea Short USDJPY ที่เรานำเสนอไปก่อนหน้า) โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 102.7 จุด (กรอบ 102.6-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้มากขึ้น ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ซึ่งแม้ว่า เราและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะประเมินว่า กนง. จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% แต่ประเด็นสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของทาง กนง. ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประกอบการพิจารณาแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 รวมถึง รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ในระยะสั้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาด โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้ ดังนั้น ในช่วงระหว่างวัน เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำได้บ้าง
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเริ่มชะลอการแข็งค่าขึ้นได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม กนง. โดยเราประเมินว่า หาก กนง. เริ่มส่งสัญญาณพร้อมหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านสูงของอัตราเงินเฟ้อ (หรือ มีมุมมองที่ Hawkish น้อยลง) ก็อาจส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ไทยมีการย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวจะหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ไทย ขณะที่ ในฝั่งหุ้น การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ไทย ก็อาจทำให้ หุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น และหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง ซึ่งความไม่สอดคล้องของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ (หากเกิดขึ้นได้จริง) ก็อาจทำให้ เงินบาทเริ่มชะลอการแข็งค่าและแกว่งตัว sideway ได้
การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทที่มากกว่าระดับแนวรับที่เราได้ประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ ทำให้ เรามองว่า แนวรับถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเข้าใกล้เป้าสิ้นปีของเราแถว 34.25 บาทต่อดอลลาร์ มากขึ้น) ส่วนโซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น