ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (6 ธ.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ธ.ค.66) ที่ระดับ  35.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.28 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.09-35.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน (ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ออกมาดีกว่าคาด แต่ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ กลับออกมาแย่กว่าคาดไปมาก) อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวน นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงเช่นกัน 

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เลนในตลาดบางส่วนกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าว กลับหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ (The Magnificent Seven) อาทิ Nvidia +2.3%, Apple +2.1% ต่างปรับตัวขึ้นตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.06% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.31%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้น +0.40% หนุนโดยความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) บางส่วนที่ออกมาส่งสัญญาณว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วและจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ ต่างปรับตัวขึ้นได้ อาทิ LVMH +2.1%, ASML +2.0% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด จะออกมาผสมผสาน ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ในปีหน้า และเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.16% ทั้งนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม หากบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (เน้นกลยุทธ์รอจังหวะ Buy on Dip) 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสานและผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่าเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวน และการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ECB ก็จะลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าเช่นกัน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104 จุด (กรอบ 103.6-104.1 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยย่อตัวลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ของสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว อาจสามารถสะท้อนแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในช่วงนี้ รวมถึง การปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 (GDPNow) โดย Atlanta Fed 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนตุลาคม เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ ECB 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง จากทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึง ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีโอกาสทยอยขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และเลือกที่จะทยอยขายสินทรัพย์ในฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ โดยเรามองว่า โซน 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ อาจพอเป็นแนวต้านระยะสั้นได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทก็อาจยังมีโซนแนวรับแถว 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นนี้ 

อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ซึ่งผู้เล่นในตลาดอาจใช้มาประเมินทิศทางของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้ได้ 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ธ.ค. 2566 เวลา : 10:04:27

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:06 pm