ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (7 ธ.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ธ.ค.66) ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.16 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.07-35.24 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ โดย ADP ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนและปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่เพิ่มขึ้นเพียง 1.03 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ 1.3 แสนตำแหน่ง โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง กดดันให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.52% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในปีหน้าของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งผลให้บรรดาหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้นต่อได้ Hermes +1.2%, ASML +0.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell -1.4%, BP -1.3%  หลังราคาน้ำมันดิบต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังคงส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.11% อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความเสี่ยงที่ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ หากบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (เน้นกลยุทธ์รอจังหวะ Buy on Dip) 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกจะย่อตัวลงตามรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด (กรอบ 103.8-104.2 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยย่อตัวลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ส่วนแนวต้านของราคาทองคำในช่วงนี้อาจอยู่ในโซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดที่เข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอาจใช้จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในการทยอยขายทำกำไรได้ โดยในกรณีดังกล่าว โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็จะพอช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ 
 
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งเอเชียเป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออก (Exports) และยอดการนำเข้า (Imports) ของจีน ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤศจิกายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า จะอยู่ที่ระดับ -0.3% ไม่ต่างจากเดือนก่อนหน้า ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ราคาพลังงาน และผลของระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า  

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงายยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตา ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ซึ่งจะสะท้อนถึงความยากลำบากในการหางาน ว่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ในกรอบ โดยเงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามจังหวะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดการเงินผันผวน ซึ่งบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึง ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีน ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในฝั่งตลาดหุ้นไทยได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบใกล้โซนแนวรับสำคัญ ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เราคงประเมินว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทก็อาจยังมีโซนแนวรับแถว 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นนี้ (แนวรับสำคัญถัดไป 35 บาทต่อดอลลาร์) 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ธ.ค. 2566 เวลา : 10:03:34

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:06 am