นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 ธ.ค.66) ที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.17 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.11-35.26 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับระยะสั้นของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ โดยรวมเงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคมและอาจลดดอกเบี้ยลง -1.25% ในปีหน้า ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์ ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลงบ้าง
รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยคลายความกังวลของบรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นในธีม AI นำโดย Alphabet +5.3% ที่ล่าสุดได้เปิดตัว AI ใหม่ “Gemini” ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.37% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.80%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.27% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป จากรายงานข้อมูลยอดผลผลิตอุตสาหกรรมของเยอรมนีและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 3 ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตามภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคมและเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลง ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้ช่วยชะลอการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 4.15% ทั้งนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่างใกล้ชิด เพราะหาก ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ ซึ่ง เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นแรงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลง หลังตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.4-104.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ราคาทองคำอาจผันผวนสูงขึ้นมาก ในช่วงระหว่างตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเราคาดว่า หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถว 2,050-2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจผันผวนไปตาม ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจเริ่มชะลอการขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนหลุดระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้า ณ สิ้นปีนี้ ของเรา ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือ ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในการประชุมที่จะถึงนี้ โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ดังกล่าว อาจกระทบต่อเงินบาทผ่าน การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายเงินเยนญี่ปุ่น หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 24.25 บาทต่อ 100 เยน
ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดไปมาก ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร ขณะที่ หากยอดการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาด หรือ ตามคาด ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก ยกเว้นจะเห็นยอดการจ้างงานลดลงชัดเจน ต่ำกว่า 1 แสนราย
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.25 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 34.90-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ
ข่าวเด่น