ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด(13 ธ.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์


 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 ธ.ค.66) ที่ระดับ  35.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.67 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.54-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้เฟดยังไม่สามารถรีบ “ลด” ดอกเบี้ยลงได้เร็วอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคม จากเดิมที่เคยมองไว้ว่าจะเป็นการประชุมเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -125bps ในปีหน้า

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด อาจทำให้เฟดยังไม่สามารถส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนธันวาคม แต่อย่างน้อยก็ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้พอสมควรในปีหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยตรึงให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 4.20% ลดแรงกดดันต่อบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่กลับมารีบาวด์ขึ้นได้บ้าง นำโดย Meta +2.8%, Nvidia +2.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.46% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% กดดันโดยการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน BP -1.4%, TotalEnergies -1.1% หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างไม่รีบปรับสถานะถือครอง เพื่อรอลุ้นผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก (เฟด, BOE และ ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.25% ได้ ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงและทรงตัวใกล้ระดับ 4.20% ทั้งนี้ เรามองว่า หากในการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ ทางเฟดได้ย้ำจุดยืนคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน หรือ อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เนื่องจาก Risk-Reward ยังคงมีความน่าสนใจ เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟดมีโอกาสกลับมาเป็นขาลงในปีหน้า ซึ่งไม่ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่า หรือ ใกล้เคียงกับที่ตลาดกำลังประเมินก็จะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไร เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนหนึ่งอาจต้องการรอความชัดเจนของทิศทางนโยบายการเงินจากการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (กรอบ 103.6-104.1 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,996 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มาก ทำให้เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมเฟดซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ ราว 02.00 น. ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย 

โดยเรามองว่า เฟดอาจ “คง” อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการกลับสู่เป้าหมาย 2% ของเฟด ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ จะอยู่ที่ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ใหม่ โดยหาก Dot Plot ใหม่ของเฟด และถ้อยแถลงของประธานเฟดอาจยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานและอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเยอะอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ ภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งเงินบาทและราคาทองคำได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นผลการประชุมเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ทำให้เงินบาทอาจผันผวนไปตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด เนื่องจากเรามองว่า เฟดอาจยังไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นหรือลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ โดยเฟดอาจให้เหตุผลว่า สภาวะการเงิน (Financial Conditions) ล่าสุดก็กลับมาผ่อนคลายมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงพอสมควร ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังดูดีอยู่ โดยเฉพาะการจ้างงาน และแม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่เฟดต้องการ โดยในกรณีนี้ หาก Dot Plot ใหม่ของเฟด สะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ย น้อยกว่าที่ตลาดกำลังประเมินว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว-125bps เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Repricing) ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์

ในทางกลับกัน หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย (ซึ่งเรามองว่า โอกาสอาจไม่สูงมาก) และ Dot Plot ใหม่ ก็สะท้อนการลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า ที่มากกว่า Dot Plot ก่อนหน้า ก็อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่ากลับมาสู่แนวรับแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (แนวรับถัดไป แถว 35.20-35.30 บบบาทต่อดอลลาร์) 

อนึ่ง เรามองว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รวมถึงเงินบาทและราคาทองคำในอนาคต อาจเป็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในปีหน้า

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-35.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด 

และประเมินกรอบ 35.50-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด

บันทึกโดย : วันที่ : 13 ธ.ค. 2566 เวลา : 13:15:20

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 4:14 pm