ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (4 ม.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ม.ค.67) ที่ระดับ  34.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.32 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามที่เราได้ประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 34.31-34.55 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้น ตามความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จากถ้อยแถลงของ Thomas Barkin ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ที่ส่งสัญญาณว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น โดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง 
 
ความกังวลแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ได้กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพิ่มเติม อาทิ Tesla -4.0%, Nvidia -1.2% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Chevron +1.9%, Exxon Mobil +0.8% หลังราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า +4.3% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.80% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.86% ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟด รวมถึงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายหุ้นเทคฯ หุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ ASML -2.9%, LVMH -3.8% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare เช่น Roche +4.4%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% จากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ หากอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจนตามที่เฟดต้องการ อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ดัชนี ISM ภาคการผลิต ออกมาดีกว่าคาด แต่ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ หรือ Job Openings ออกมาแย่กว่าคาด) รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 3.90% อนึ่ง แม้เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว แต่ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในคืนก่อนหน้า ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่ระดับ 102.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.2-102.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทยอยปรับตัวลดลง สู่ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (หลุดโซนแนวรับที่เราประเมินไว้) ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ที่อาจสะท้อนถึงแนวโน้มของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งประเด็นว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (จากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขาริชมอนด์ ล่าสุด) และ เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ โดยภาพดังกล่าว ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ 

นอกจากนี้ การปรับฐานของราคาทองคำในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ร้อนแรงอยู่ และแนวโน้มอุปทานน้ำมันดิบที่อาจตึงตัวระยะสั้น จากการปิดบ่อน้ำมันในลิเบีย ก็อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในจังหวะดังกล่าว เงินบาทก็อาจถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันของผู้เล่นในตลาดได้ 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้ไม่ยาก ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของตลาดหุ้นไทยรอบล่าสุดได้บ้าง ทั้งนี้ แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจถูกชะลอลงได้บ้าง จากโฟลว์ซื้อบอนด์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังเชื่อว่า เงินบาทจะมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทได้อ่อนค่าเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวไปได้ไกลมากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้

ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ม.ค. 2567 เวลา : 10:33:59

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:05 am