นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (5 ม.ค.67) ที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.43-34.58 บาทต่อดอลลาร์) หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ออกมาดีกว่าคาด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดบ้าง ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับใหม่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าไปไกลจากแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปมากนัก ตามที่เราประเมินไว้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ ปรับสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพิ่มเติม อาทิ Amazon -2.6%, Apple -1.3% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.00% อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลของบรรดาผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.34%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.69% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare และกลุ่ม Utilities อาทิ Novo Nordisk +3.6%, Enel +1.5% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการทยอยปรับพอร์ตของบรรดานักลงทุน เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลง
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมีนาคม ราว 66% ซึ่งลดลงพอสมควร จากที่ตลาดเคยให้โอกาสถึง 87% ในเดือนก่อนหน้า โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.00% อีกครั้ง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่ระดับ 102.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.1-102.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทยอยปรับตัวลดลง สู่ระดับ 2,040-2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับใหม่ในช่วงนี้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls), อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings %y/y) รวมถึง รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการโดย ISM (Services PMI) เดือนธันวาคม โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.40% ตามคาด หรือ ต่ำกว่า ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีนี้
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในเดือนธันวาคม ซึ่งเราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI มีโอกาส ติดลบ ต่อเนื่อง ราว -0.5% จากฐานราคาสินค้าและบริการที่สูงในปีก่อนหน้า มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจยังอยู่ที่ระดับ 0.60%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.60 บาทต่อดอลลาร์ (โซนแนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.80 บาทต่อดอลลาร์) หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยลงของเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวจะทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ กดดันทั้ง ราคาทองคำและค่าเงินบาท
ทั้งนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน หรือ ไม่ได้ดีกว่าคาด ไปทั้งหมด เช่น ยอดการจ้างงานชะลอลงกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง แต่เรามองว่า ก็อาจไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปมาก โดยเงินบาทอาจเพียงทยอยกลับมาแข็งค่าสู่โซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ และอาจเป็นเรื่องยากในช่วงนี้ ที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าหลุดโซน 34 บาทต่อดอลลาร์ หากไม่มีปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน อาทิ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วงนี้ก็อาจยังมีความผันผวนไปตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
และประเมินกรอบ 34.35-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ข่าวเด่น